การมีลูกน้องไม่ยอมทำงานย่อมเป็นปัญหาน่าปวดหัวอันดับต้น ๆ ของเจ้านายหลาย ๆ คน ยิ่งถ้าต้องมาเจอกับลูกน้องที่รับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะแต่พอถึงเวลาจริง ๆ กลับไม่มีผลงานออกมาตามที่ตกลงไว้ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นปัญหาหนักที่ต้องทำให้หัวหน้างานทั้งเครียดและต้องมารับผิดชอบกับความเสียหายไปด้วย คุณหัวหน้าทั้งหลายเมื่อต้องเจอกับลูกน้องแบบนี้ลองทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ดูนะคะ
ค้นหาสาเหตุ
การจะแก้ปัญหาให้ตรงจุด คุณต้องรู้ถึงสาเหตุของปัญหาให้ได้ก่อน การที่คน ๆ หนึ่งรับปากแล้วไม่ทำตามอาจเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณงานที่มากเกินไป งานที่ยากเกินความสามารถ ไม่รู้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หรืออาจจะแค่เป็นคนที่ขาดความรับผิดชอบ อย่างไรก็ตามอย่าเพิ่งด่วนสรุปแต่ควรเปิดโอกาสให้ลูกน้องของคุณได้อธิบายตัวเองก่อน โดยเรียกลูกน้องคนนั้นเข้ามาพูดคุยกันตรง ๆ ถึงสาเหตุที่ทำงานไม่เสร็จ ในขณะเดียวกันก็ลองสังเกตพฤติกรรมของเขาอยู่ห่าง ๆ ว่าเป็นไปอย่างที่พูดหรือไม่ ขั้นตอนนี้อาจจะต้องใช้เวลาสักเล็กน้อย อาจจะต้องหาข้อมูลจากเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ประกอบเพิ่มเติมอีกด้วย เมื่อมั่นใจว่าสาเหตุที่คุณรู้น่าจะเป็นต้นตอที่แท้จริงของปัญหา คุณจึงสามารถดำเนินการแก้ไขต่อไปได้
ลงมือแก้ไข
แก้ปัญหาไปตามเหตุที่เจอ เช่น ถ้างานที่ลูกน้องคนนั้นรับผิดชอบอยู่มีมากจนล้นมือจริง ๆ อาจจะต้องแบ่งเบาภาระของเขาไปให้คนอื่นช่วย หรือเอางานใหม่ไปให้คนอื่นรับผิดชอบเสีย หากงานที่มอบหมายยากเกินความสามารถของเขา จะหาใครที่มีความพร้อมมากกว่ามารับงานไป อาจจะฝึกฝน สอนงาน ให้เขามีความรู้เพิ่มเติมก่อนก็ได้ หรือถ้าลูกน้องมีพื้นฐานเป็นคนที่ขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ คุณอาจจะต้องคิดถึงบทลงโทษอันเหมาะสมที่ทำให้เขาเห็นว่าทางบริษัทไม่สนับสนุนพฤติกรรมนี้ อย่างไรก็ตามก็ควรคุยกับลูกน้องด้วยเหตุผล ชี้ให้เขาเห็นถึงผลจากการทำงานชิ้นนี้ไม่สำเร็จและความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งกับบริษัทและตัวเขาเอง อย่าใช้อารมณ์ชี้นำการสนทนา นอกจากนี้คุณจะต้องคอยติดตามผลเป็นระยะ อย่าปล่อยให้เขาทำงานโดยไม่มีหัวหน้าควบคุมเลย
สร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน
มีหลายคนทำงานแบบเช้าชามเย็นชามเพราะพวกเขาขาดแรงบันดาลใจในการทำงาน ไม่เห็นคุณค่าในงานที่ตัวเองทำ ดังนั้นพวกเขาก็จะรับปากไปตามหน้าที่แต่ไม่สนใจที่จะทำผลงานให้ดีอย่างที่หัวหน้าต้องการ ดังนั้นบางครั้งสิ่งที่คุณต้องทำนอกเหนือไปจากการพยายามแก้ไขปัญหาตามสาเหตุอื่น ๆ แล้ว ยังควรพยายามสร้างความรู้สึกดี ๆ ให้แก่ลูกน้อง แสดงให้พวกเขาเห็นว่างานที่พวกเขาทำนั้นมีคุณค่ากับทีมและกับบริษัทอย่างไร และเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากการทุ่มเทให้กับงานนี้ สิ่งเหล่านี้ทำได้ทั้งทางตรงคือการพูดคุยเรื่องความก้าวหน้าในสายงานหรือผลตอบแทนในอนาคต หรือทางอ้อมด้วยการเชิญวิทยากรมาบรรยาย จัดเป็นกิจกรรมสร้างทีมเวิร์คต่างๆที่สนุกและน่าสนใจก็ได้ แรงบันดาลใจในการทำงาน เป็นเรื่องสำคัญและสามารถสร้างความแตกต่างในผลงานได้เป็นอย่างมากค่ะ
ให้โอกาส
เมื่อได้ลองแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและคอยเฝ้าดูพัฒนาการที่ดีขึ้นของเขามาระยะหนึ่งแล้ว อย่าลืมให้โอกาสลูกน้องของคุณได้แสดงศักยภาพอีกครั้ง หากคราวนี้เขาสามารถทำได้ดีก็ควรมีการชื่นชมหรือ ให้รางวัลพนักงาน ตามความเหมาะสมเพื่อเป็นกำลังใจให้เขาอยากพัฒนาตัวเองมากขึ้นต่อไป คนเราเมื่อทำอะไรได้ดีและมีคนเห็นความสำคัญ เขาก็จะยิ่งอยากทำให้ดีขึ้นและเกิดเป็นความสนุกหรือความสุขที่จะได้ทำสิ่งนั้นๆ โดยเฉพาะกับคนที่เคยทำผิดพลาดมาก่อน พวกเขาต้องการกำลังใจเป็นอย่างสูงในการลุกขึ้นมาทำดีอีกครั้ง ดังนั้นหัวหน้าเองจึงมีบทบาทเป็นอย่างมากในการจะพลิกสถานการณ์ตรงนี้ให้เกิดเป็นโอกาสขึ้นมา ซึ่งถ้าหากทำได้สำเร็จก็ย่อมเป็นผลดีทั้งกับตัวลูกน้องคนนั้นเองและกับบริษัทด้วย
สร้างบรรยากาศในการทำงาน ที่เป็นกันเอง
อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากคือความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกน้อง คุณเข้าถึงง่ายแค่ไหน หากคุณเป็นเจ้านายประเภทที่ชอบสั่งอย่างเดียว ไม่เคยฟังใครเลย ลูกน้องก็มีแนวโน้มที่จะกลัวจนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นที่แท้จริงออกมา ย้อนกลับไปถึงข้อการค้นหาสาเหตุ จริงอยู่อาจจะมีบ้างที่ลูกน้องประเมินความสามารถของตัวเองผิดไปในตอนที่รับงานชิ้นนั้น ๆ มาจนทำให้งานไม่สำเร็จตามที่รับปาก แต่หลาย ๆ ครั้งการที่ลูกน้องรับปากแล้วทำไม่ได้อาจจะเกิดจากการที่ไม่กล้าบอกเจ้านายตรง ๆ ว่าตัวเองงานมากล้นมือจนทำไม่ทันแล้ว หรือตัวเองยังขาดความเข้าใจที่จะทำเรื่องนี้ภายในเวลาจำกัด ดังนั้นหากคุณเป็นเจ้านายที่ใจกว้าง รับฟังลูกน้อง ทำให้เขากล้าแสดงความคิดเห็นที่แท้จริงออกมา คุณจะได้รับข้อมูลตามความเป็นจริงและสามารถมอบหมายงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่แรก
อย่างไรก็ตาม หากลองครบทุกขั้นตอนอย่างเต็มที่แล้วยังพบว่าลูกน้องคนเดิมก็ยังมีพฤติกรรมเดิม ๆ กล่าวคือยังชอบรับปากแต่ไม่ทำงานตามที่ได้ตกลงกันเอาไว้ คุณอาจจะต้องพิจารณาถึงทางเลือกอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกคุยตักเตือนหรือการออกจดหมายเตือนอย่างเป็นทางการ หรือการโยกย้ายให้เขาได้ไปทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสมกับความสามารถและตามความทุ่มเทที่เขามี อาจจะลองปรึกษากับผู้บริหารระดับสูงเพิ่มเติมเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดอีกครั้งก็ได้ค่ะ
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ