ช่วงนี้มีเหตุการณ์ปิดตัวลงและการถูกดำเนินการแทรกแซงของธนาคารบางแห่งในสหรัฐอเมริกาดังที่ทราบกันดีอยู่ ธนาคารพาณิชย์บางแห่งนี้เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีประวัติยาวนาน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดกับธนาคารเหล่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบลุกลามไปถึงระบบสถาบันการเงินในประเทศอื่น ๆ ซึ่งธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ เหล่านั้นก็พยายามดูแลอย่างใกล้ชิด
ด้วยความที่ธนาคารพาณิชย์เป็นธุรกิจที่แตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ อย่างมาก หัวใจสำคัญของธุรกิจไม่ได้อยู่ที่ความสามารถในการทำกำไร แต่อยู่ที่การบริหารสภาพคล่อง การดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์อยู่ได้ด้วยความเชื่อมั่นจากประชาชนผู้ฝากเงินเป็นหลัก เพราะมีคนเชื่อมั่นจึงไปฝากเงิน ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินสามารถปล่อยสินเชื่อได้ หากความเชื่อมั่นสั่นคลอน มีผู้ฝากเงินมาแห่ถอนเงินเมื่อไรต่อให้ธนาคารพาณิชย์มีผลประกอบการดี ฐานะมั่นคง ก็ยากที่จะเอาตัวรอดได้
ความเชื่อมั่นในตัวธนาคารพาณิชย์นั้นสร้างยากใช้เวลานานต้องค่อย ๆ สั่งสมทีละน้อย และธนาคารพาณิชย์ต้องพิสูจน์ให้เห็นอยู่ตลอดเวลา แต่ความเชื่อมั่นนั้นถูกทำลายได้ง่ายมาก แม้แต่ข่าวลือเล็ก ๆ ก็อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และโยงไปสู่ปัญหาสภาพคล่องได้ในชั่วข้ามคืนอย่างง่ายดาย ดังนั้น หน้าที่หลักของผู้กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์คือ การสร้างความเชื่อมั่นในระบบ โดยการมีนโยบายด้านความมั่นคงที่เหมาะสม มีบรรทัดฐานในการกำกับ ตลอดจนมีกลไกการตรวจสอบที่ดีที่สะท้อนฐานะของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งถ้าทุกอย่างที่กล่าวทำงานสอดคล้องกันอย่างเหมาะสม เราก็จะมีธนาคารพาณิชย์ที่แข็งแรงและความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินในธนาคารพาณิชย์ก็จะตามมาเอง
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการกำกับดูแลสถาบันการเงินทุกด้านที่กล่าวข้างต้นถูกดำเนินด้วยความระมัดระวังแล้วก็ตาม แต่หากมีเหตุการณ์ภายนอก (External Factor) มา กระทบและส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นและลุกลามไปจนถึงปัญหาสภาพคล่อง ก็ต้องมีหน่วยงานที่จะมาดูแลช่วยเหลืออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ ดังเช่นกรณีธนาคารกลางต่างประเทศที่กำลังทำอยู่ขณะนี้
กล่าวถึงประเด็นนี้ สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในต่างประเทศขณะนี้จะเห็นว่า กลไกการช่วยเหลือสภาพคล่องที่มีประสิทธิผลนั้นต้องคล่องตัวและรวดเร็ว ต้องมีปริมาณเงินเพียงพอที่จะรองรับปัญหา และข้อสำคัญคือในขณะที่ให้ความช่วยเหลือนั้นต้องดูแลความเชื่อมั่นของผู้ฝากอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อมิให้ปัญหาลุกลามบานปลายออกไปได้
หากเปรียบเทียบปัญหาที่เกิดขณะนี้ในสหรัฐอเมริกา กับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อครั้งวิกฤติปี 2540 ก็จะเห็นว่ามีองค์ประกอบที่คล้ายกันคือ ฟองสบู่แตกประกอบกับมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่หละหลวมขาดความระมัดระวัง แต่การปล่อยสินเชื่อที่ขาดความระมัดระวังของสหรัฐอเมริกานั้นมีที่มาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ของเขามีรูปแบบการทำธุรกิจในลักษณะที่เรียกว่าเป็น Loan Originator คือปล่อยสินเชื่อแล้วขายให้คนอื่นต่อในรูปของการแปลงสินเชื่อเป็นหลักทรัพย์ (Securitization)
ท่านผู้อ่านคงพอทราบว่าตลาดตราสาร Securitized Paper ของสหรัฐอเมริกามีปริมาณธุรกรรมใหญ่มาก และตอนนี้คำทางเทคนิคต่าง ๆ เช่น Residential Mortgage Backed Securities (RMBS) และ Asset Backed Securities (ABS) เป็นต้น คงเป็นคำที่เริ่มคุ้นเคยเพราะพบในเหตุการณ์ปัจจุบัน ซึ่งก็คือหลักทรัพย์ที่ออกขายนักลงทุนโดยมีสินเชื่อบ้านหรือสินทรัพย์ประเภทอื่นเป็นหลักประกันหนุนหลังอยู่ หลักทรัพย์พวกนี้มีปริมาณการซื้อขายลงทุนสูงมาก และ(เคย)เป็นที่ต้องการของผู้ลงทุนทั่ว ๆ ไป ดังนั้น เมื่อมีความต้องการของนักลงทุน จึงมีผู้ซื้อสินเชื่อไปทำการแปลงเป็นหลักทรัพย์ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ที่เป็น Loan Origination เร่งปล่อยสินเชื่อเพื่อขายต่อไป เพราะคิดว่าไม่ใช่ความเสี่ยงของตัวธนาคารพาณิชย์เองแล้ว มาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อต่าง ๆ จึงถูกละเลยมองข้ามไป
ส่วนของประเทศไทยเรานั้นแตกต่างกัน ธนาคารพาณิชย์ของเราไม่ใช่ Loan Originator แต่เป็น Lender คือเป็นผู้ให้สินเชื่อโดยไม่ขายออกไป เก็บไว้เป็นสินทรัพย์สำคัญของธนาคารพาณิชย์ และสาเหตุของการปล่อยสินเชื่อที่ขาดความระมัดระวังของธนาคารพาณิชย์เราในสมัยก่อน คือ การเคยมีความคิดว่าถ้าปล่อยสินเชื่อโดยมีหลักประกันแล้วก็จะไม่ค่อยเสี่ยงเพราะคิดว่าอย่างไรเสียก็ยึดหลักประกันขายเป็นเงินคืนได้ จึงมองข้ามความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ และเลยไปถึงการมีขบวนการตีราคาหลักประกันสูง ๆ เพื่อจะได้ขอสินเชื่อได้มาก ๆ
และเมื่อฟองสบู่แตกทั้งของสหรัฐอเมริกาและของไทยเมื่อ 10 ปีก่อน สินทรัพย์ที่เคยมีราคาสูง ก็เริ่มตกลง เมื่อลูกหนี้เริ่มไม่ชำระหนี้ สินเชื่อที่ปล่อยออกไปก็มีคุณภาพเสื่อมลง หลักประกันที่ได้มาก็ไม่คุ้มกับเงินกู้ที่ปล่อยไป ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า สาเหตุปัญหาของธนาคารพาณิชย์นั้นมักจะเกิดจากความเสี่ยงทางด้านเครดิต ซึ่งเป็นความเสี่ยงเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อ ปัจจุบันแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เราได้เปลี่ยนไปมากจากเดิมแล้วเพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมานั่นเอง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงทุน ธนาคารพาณิชย์ ผู้กำกับดูแล สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ตลอดจนผู้กำหนดมาตรฐานบัญชี ก็พยายามศึกษาจากเหตุการณ์นี้ หาวิธีตั้งรับและเตรียมมาตรการเยียวยาในยามวิกฤติ และศึกษาเพื่อป้องกันประวัติศาสตร์ไม่ให้ซ้ำรอยต่อไป
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ