บางครั้งระบบที่วางไว้ก็ไม่กันการทุจริตได้ 100% การให้อำนาจพนักงานในขอบเขตที่กำหนดให้ ก็เป็นทางหนึ่งที่รั่วไหลได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น วิธีการจัดการก็ไม่ยาก มันขึ้นอยู่ที่คนเป็นเจ้านายว่า จิตใจหรือแบบฉบับของเขาเป็นอย่างไร ถ้าเขาแข็งกร้าว เด็ดขาด เฉียบพลัน ก็เล่นงาน หรือไล่ออก ประมาณนั้น หรือมีทั้งความเด็ดขาดและมีความเมตตาก็อาจใช้แนวนักเลง เช่น อาจจะเรียกมาว่ากล่าว แต่ท้ายที่สุดก็ให้อภัย และให้โอกาสแก้ตัว แต่ถ้าหากเกิดขึ้นอีกก็อยู่กันไม่ได้
ในทางกลับกัน ถ้าเป็นคนใจอ่อน ขี้สงสาร ก็อาจจะยากหน่อย จะเอาเรื่องกับลูกน้องก็ไม่ค่อยกล้า กลัวลูกน้องจะลาออก เป็นต้น ทั้งนี้ ถ้าเกิดเราสงสัยเขาก็แปลว่า การทุจริตเกิดขึ้นหรือยังก็ไม่รู้ แบบนี้อาจจะยากหน่อย คือหากทำอะไรหรือพูดอะไรไป ถ้ามันไม่จริงหรือไม่ใช่ มันก็จะเกิดบาดแผลในใจซึ่งหายยาก สำหรับคนที่เป็นลูกน้องที่จะยอมรับฟังหรือให้ใจกับนายได้ ดังนั้น ในกรณีนี้ก็ต้องหาหลักฐานหรือพยานให้ได้
ทั้งนี้ มีอีกวิธีหนึ่ง คือ การตัดไม้ข่มนาม แสดงความเหนือชั้นกว่าข่มกันเลย แบบเข้าตำรานักเลงที่แฝงอยู่ในตัวนักบริหาร ประมาณว่าพูดกันต่อหน้าลูกน้องทั้งหมดเลย “กินไม่ว่า อย่าให้จับไดก็แล้วกัน จบข่าวแบบบนโรงพักแน่” เมื่อพูดไปแล้วต้องหมายความนั้น แล้วก็ต้องทำตามนั้นจริง ๆ อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องดูเป็นกรณี ๆ ไป และเป็นคน ๆ ไปว่า เราควรงัดวิธีไหนมาใช้
ที่มา : www.pantown.com