ตั้งแต่โลกของเรามีสายการบินโลว์คอสต์ที่จะพาเราไปไหนมาไหนได้ด้วยตั๋วราคาประหยัด สมาร์ทโฟนที่ถ่ายรูปได้ เอาไว้แชะ แชร์ โชว์ภาพสวย ๆ ของสถานที่ต่าง ๆ อาหารจานเด็ด รวมไปถึงภาพเซลฟ์ฟี่ตัวเองของผู้โพสท์ และสิ่งสุดท้ายขององค์ประกอบแห่งยุค โซเชี่ยลมีเดียทั้งหลาย ที่เป็นแพลทฟอร์มให้ทุกคนได้เห็นข้อมูล และเรื่องราวต่าง ๆ ของคุณที่แชร์ผ่านโลกออนไลน์ 3 สิ่งดังกล่าวนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทั้งหมดได้นำมาซึ่งเม็ดเงินมหาศาลที่สะพัดกันไปมาในโลกแห่งการเที่ยว กิน ดื่ม ทั่วทุกมุมโลก
แล้วพนักงานออฟฟิศ ชีวิตรับเงินรายเดือนอย่างเราจะพลาดได้ไง ชีวิตไม่ได้เกิดมาเพื่อหาเงินอย่างเดียวนี่นา หาเงินได้ ก็ต้องใช้จ่ายบ้างเพื่อความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ทางใจ jobsDB ขอแนะนำทิปส์ง่าย ๆ ในการเก็บเงินไปเที่ยวแบบไม่ลำบากชีวิตสำหรับหนุ่มสาวออฟฟิศกันดีกว่า
1. แบ่งสรร ปันเงินเดือน
เงินเดือนมีเท่าไหร่ เอามาคิดคำนวณ กันเงินส่วนหนึ่งไว้ฝากประจำ ท่องไว้ในใจเลยว่าบัญชีนี้ฝากไว้สำหรับเที่ยวเท่านั้น ห้ามถอนออกมาช้อปปิ้ง ห้ามถอนออกมาทำการฟุ่มเฟือยใด ๆ ก่อนถึงเวลา แนะนำว่าให้กันไว้สัก 10% ของเงินเดือนที่คุณได้รับ ถ้าคุณได้เงินเดือน 15,000 เก็บ 1,500 ภายใน 1 ปี คุณก็จะเก็บได้ 18,000 พอจะเที่ยวในประเทศได้แบบเหลือ หรือต่างประเทศ แถบประเทศเพื่อนบ้านก็ได้อยู่ ถ้าเงินเดือนน้อยหน่อยแบบเพิ่งจะทำงาน ก็อาจจะต้องทนเก็บนานหน่อย ถ้ายังเด็กอยู่ เพิ่งจบใหม่เป็นเฟิร์ส จ็อปเบอร์ ก็อดทนเก็บสักนิด ไม่ต้องรีบล่าแต้มสะสมไมล์ไปไกลขนาดนั้น มีน้อยเที่ยวน้อยค่อยบรรจงใช้ เก็บตังค์เที่ยวเองเก๋ไก๋กว่าขอเงินพ่อแม่เที่ยวตั้งเยอะ เชื่อป้าสิ ป้ารู้ดี
2. วางแผนระยะยาว
คิดไว้เลยตั้งแต่ไก่โห่ ว่าเป้าหมายปีนี้ของเราอยากไปที่ไหน ในประเทศ หรือนอกประเทศ ไปยุโรปหรือเอเชีย เพื่อจะได้คำนวณจำนวนเงินที่จะต้องใช้จ่ายระหว่างทริปได้ถูกต้อง ถ้าเรามีจุดหมายที่ชัดเจนแล้ว จะทำให้มองเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าต้องเก็บออมเดือนละเท่าไหร่ เพื่อให้ไปถึง destination ของเรา ปล.จะวางแผนไปไหน คำนึงถึงรายได้ตัวเองด้วย อย่ามักใหญ่ใฝ่สูง ฝันถึงแดนไกลที่ต้องใช้เงินเป็นแสน การเที่ยวที่ดีไม่ควรจะกระเทือนกระเป๋าตังค์จนถึงขั้นเป็นหนี้ เป็นสิน หรือต้องหยิบยืมใคร ๆ ค่อย ๆ วางเป้าหมายอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะดีกว่า
3. คำนวณค่าใช้จ่าย
เวลาจะไปเที่ยวแต่ละที การคำนวณค่าใช้จ่ายเป็นอีกสเต็ปที่สำคัญมาก ๆ ค่าใช้จ่ายระหว่างไปเที่ยวนั้นค่อนข้างยิบย่อย ไม่ใช่มีแค่ค่าตั๋วเครื่องบิน กับค่าโรงแรม แต่ยังรวมไปถึงค่าเดินทางทั่ว ๆ ไปเมื่อเราไปถึงที่นั่นแล้ว (ค่าใช้จ่ายก้อนนี้มักจะหยุมหยิม) ซึ่งมากน้อยไปตามแต่ละเมือง และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่เราจะไป ค่าเข้าชมสถานที่ ค่ารับประทานอาหาร และขนมกรุบกริบ ค่าช้อปปิ้ง และค่าของฝาก เฮ้อ ยาวเหยียดเป็นหางว่าว อะไรไม่จำเป็นก็ตัดออก ปรับตามความเหมาะสมของแต่ละสถานที่และบุคคล
4. ไขว่คว้าหาโปรโมชั่น
ยุคนี้สมัยนี้ อำนาจกลับมาอยู่ในมือผู้ซื้อมากขึ้น เพราะมีแหล่งให้ลูกค้าเข้าไปหาข้อมูลข่าวสารมากมายเพื่อจะได้ง่ายต่อการเข้าถึงโปรโมชั่นส่วนลดมากขึ้น ลองไปตามงานไทยเที่ยวไทย หรืองานแฟร์ของประเทศต่าง ๆ ดู มักจะมีแพคเกจทัวร์ลดราคามาให้เลือกซื้อมากมาย ช่วยลดค่าใช้จ่ายระหว่างเที่ยวไปได้เยอะ ยิ่งถ้าเราทำแผนการเดินทางไว้อย่างดีมาก่อนแล้ว จะทำให้ซื้อตั๋ว แพคเกจต่าง ๆ ตามราคาโปรโมชั่นได้ง่ายขึ้น เพราะผ่านการคิดมาแล้ว ไม่ต้องยืนยึกยักอยู่หน้าบู้ทให้เมื่อยขา ของถูกของดี ก็ยังมีในโลกนะจ๊ะ
5. ใช้บัตรเครดิต และแต้มสะสมทั้งหลายให้เป็นประโยชน์
สายการบิน รร.ชั้นนำต่าง ๆ รวมไปถึงแบรนด์สินค้า ร้านอาหารและอื่น ๆ มักจะมีโปรโมชั่นกับบัตรเครดิตหลาย ๆ ค่ายอยู่บ่อยครั้ง (อันที่จริงเรียกได้ว่าเกือบทั้งปี) ลองสอดส่องดู แล้วเอามาใช้จ่ายเป็นส่วนลด หรือรับของแถมให้เป็นประโยชน์ รวมถึงแต้มสะสมที่เก็บไว้ ถ้ามีก็เอามาแลก มาใช้ดูบ้าง อย่ามัวแต่เก็บจนลืมใช้ เพราะหลายๆบัตรก็ตัดแต้มเป็นปี เสียดายแย่ถ้าลืม
6. มีวินัยกับตัวเอง
เมื่อตั้งใจไว้แล้วว่า จะต้องมีเงินออมในหลายๆแบบ รวมถึงออมไว้เพื่อเที่ยวแล้ว จัดสรรเรื่องเงินไว้อย่างไรก็ควรทำให้ได้ตามนั้นโดยเคร่งครัด หากไม่ได้มีเหตุฉุกละหุกที่มาทำให้เราต้องไปทุบกระปุกหมูมาจ่ายเงินแบบสุดวิสัยแล้ว ก็ไม่ควรตามใจตัวเองจนเสียแผน นอกจากจะไม่มีเงินไปเที่ยวแล้ว ยังจะพาลไม่เหลือเงินเก็บเงินออมอีกด้วย มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาทตามคำโบราณที่ว่าไว้จะดีกว่าเนอะ
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ