คนทำงานหลายคนอาจจะรู้สึกว่าตัวเองใจร้อนมากไป จึงทำให้การทำงานไม่เป็นมืออาชีพเต็มที่ บางคนเลือกที่จะหางานใหม่ทั้งที่เพิ่งจะทำงานแรกไปได้ไม่กี่เดือน แล้วก็เริ่มหางานที่ 3 งานที่ 4 งานที่ 5 ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งพบว่าตัวเองไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านใดเป็นพิเศษเลย ทำงาน 5 ที่ก็มีทักษะ 5 อย่าง ฟังดูครั้งแรกเหมือนจะเป็นเรื่องดีที่เรามีความสามารถมาก แต่หากดูกันให้ลึกจะพบว่าความสามารถเหล่านั้นเป็นความรู้เพียงผิวเผิน ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ และไม่สามารถนำไปต่อยอดต่อไปได้
หากเราคิดจะเปลี่ยนงานใหม่ หรือแม้แต่จะเปลี่ยนสายงานไปเลยนั้น เราต้องมั่นใจว่าเรามีความรู้ในการทำงานอย่างแท้จริง อย่าเปลี่ยนงานบ่อยจนหาจุดยืนไม่ได้ และต้องไม่ลืมว่าต้องรีบค้นหาตัวตนให้พบโดยเร็ว เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว แล้วจะทำงานอย่างไร้คุณค่า เพราะไม่รู้ว่าต่อไปเราจะทำงานอะไรต่อไป แล้วเป้าหมายสูงสุดของอาชีพที่เราทำอยู่นั้นมีอะไรบ้าง
หากคิดที่จะเปลี่ยนสายงานเราต้องทำอย่างมีทักษะ แม้ว่าเราจะเคยทำงานมาหลากหลาย แต่ถ้าหากเรามีหลักการ การประสบความสำเร็จในการทำงานก็จะไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป วิธีการเหล่านั้นมีอะไรบ้าง ที่จะทำให้การเปลี่ยนสายงานของเราเป็นไปอย่างมีทักษะ
1. ถามตัวเองทุกครั้งก่อนตัดสินใจ
ก่อนที่เราจะตัดสินใจหางาน ให้ลองถามตัวเองว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้เราอยากเปลี่ยนงานใหม่ เรามีความรู้สึกอย่างไรกับงานที่ทำในปัจจุบัน มีแง่มุมใดบ้างที่เราชอบหรือไม่ชอบเกี่ยวกับงานที่ทำ เช่น เนื้อหาโดยรวมของงาน เงินเดือน หรือแม้กระทั่งเพื่อนร่วมงาน มีสิ่งใดบ้างที่ทำให้เราไม่ชอบ หากคิดที่จะเปลี่ยนงานจริง ๆ ให้พิจารณาดูว่างานที่เรากำลังจะเปลี่ยนไปทำนั้นดีกว่างานที่ทำอยู่ เปลี่ยนงานแล้วต้องเปลี่ยนงานอีกหรือไม่ อีกทั้ง ต้องไม่ลืมที่จะค้นหาความถนัดในการทำงาน เพื่อให้เราสามารถมองเห็นอนาคตในการทำงานได้อย่างเด่นชัดขึ้น
2. รวบรวมทักษะของงานแต่ละสายมาใช้
แม้ว่าเราอาจจะทำงานมาหลากหลาย แม้ว่าอาจจะไม่เชี่ยวชาญในงานเหล่านั้นจนถึงที่สุด แต่เราสามารถนำเอาทักษะในการทำงานเหล่านั้นมารวมกัน แล้วนำไปประยุกต์กับการทำงานในสายงานใหม่ได้ เช่น หากเราเคยทำงาน Admin มาก่อน แล้วเราต้องการจะย้ายสายงานไปสู่งานการตลาด อาจจะด้วยความชอบ หรือความสามารถส่วนตัวก็ตาม เราสามารถนำเอาข้อดีของงาน Admin มาใช้ร่วมกับงานการตลาดได้ เพื่อทำให้งานเกิดความคล่องตัว สิ่งที่เราต้องเตรียมให้พร้อม คือ ทบทวนความรู้ในสายงานที่เราเคยทำมา แล้วนำมาประยุกต์ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่างานอะไรเราก็จะทำได้ แต่ต้องเป็นคนที่มีความพยายาม และแสวงหาความรู้ให้มากขึ้น และเรียนรู้ได้เร็ว การเปลี่ยนไปทำงานในสายงานใหม่ก็จะไม่มีอุปสรรคอีกต่อไป
3. เรียนรู้และจดจำ
ทักษะอย่างหนึ่งที่นายจ้างหรือหัวหน้างานต้องการจากคนทำงาน คือ การเรียนรู้ ยิ่งเราเป็นคนที่เรียนรู้ได้ไวเท่าไหร่ งานก็จะเดินหน้าได้เร็วเท่านั้น “เรียนรู้ได้ไว” ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เราได้งานหรือไม่ได้งาน และเป็นประโยชน์มากขึ้นกับการเปลี่ยนงาน ถึงแม้ว่าเราจะเป็นคนที่มีประสบการณ์น้อยในสายงานใหม่ แต่ถ้าเราสร้างความประทับใจในการเรียนรู้เรื่องงาน นายจ้างก็จะเชื่อมั่นใจตัวเรา หากแต่เราจะต้องเรียนรู้ให้มากกว่าคนอื่นหลายเท่าตัวสักหน่อย เพื่อให้เราเข้าใจงานได้เท่ากับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ที่ทำงานมานานกว่าเรา
4. สร้างความมั่นใจ
การสร้างความมั่นใจไม่ใช่เฉพาะกับตัวเราเอง แต่เราต้องสร้างความมั่นใจให้นายจ้างด้วย เพราะเขาคือคนที่จะจ้างเราทำงาน เราต้องทำให้เขามั่นใจว่าเราสามารถทำงานนี้ได้ แม้ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้มาก่อน หากเราโชคดีเราจะได้เจอกับนายจ้าง หรือบริษัทที่พร้อมจะสอนทุกอย่างให้เรา แม้ว่าเราจะไม่เคยทำงานด้านนี้มาก่อน เช่น เราอาจจะเคยทำงาน Call Center มาก่อน แล้วเปลี่ยนมาทำงาน IT อย่าง งาน Web Content ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าหากเรามีความมั่นใจ และบริษัทพร้อมที่จะสอนงานให้ ความเป็นไปไม่ได้จะไม่มีอีกต่อไป แต่เมื่อได้เข้ามาทำงาน เราอาจจะต้องอาศัยความอดทน เพราะในช่วงที่ทำงานแรก ๆ ทุกอย่างอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่หวังไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเดือน หรือการทำงานอาจจะมีอุปสรรคบ้าง แต่ถ้าหากเรามีความตั้งใจจริง เราก็จะผ่านจุดนั้นมาได้
5. ขอปรึกษาจากผู้ที่มีประสบการณ์
เมื่อเรารู้ว่าเป้าหมายในชีวิตการทำงานของเราคืออะไร ให้ลองทำตามความฝันของเราให้เต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ขอคำปรึกษาจากผู้ที่มีประสบการณ์ด้วย อย่ามั่นใจจนมากเกินไป เพราะบางครั้งก็อาจจะเกิดความผิดพลาดได้ เมื่อเรามีเป้าหมายอาชีพที่ต้องการแล้ว ให้ศึกษาข้อมูลให้มากขึ้นกว่าเดิมว่างานที่เราจะทำนั้นต้องมีทักษะด้านใดบ้าง มีลักษณะการทำงานเช่นไร โดยสอบถามจากผู้ที่มีประสบการณ์ที่เคยทำงานด้านนั้นมาก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจในการเลือกทางเดินใหม่ในการประกอบอาชีพ
การเปลี่ยนงานอาจไม่มีความจำเป็น หากเราเรียนรู้และทำความเข้าใจกับงานที่เราทำในแต่ละวัน แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้การทำงานของเรามีคุณภาพ มีประสิทธิภาพต่อไป ถ้าเรามีความเชี่ยวชาญในงานที่เราทำ ความคิดที่อยากจะหางานใหม่ก็จะไม่มีอีกต่อไป เพราะเรารู้สึกว่างานที่เราทำอยู่นั้นมีคุณค่า แล้วเราก็จะมองเห็นทิศทางที่จะพัฒนางานให้ดีขึ้น
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ