ความรู้สึกเบื่อหน่ายเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่เลือกว่าจะเกิดขึ้นกับใครบ้าง ดังนั้น คนทำงานจึงไม่ควรที่จะรู้สึกเครียดหรือเป็นกังวลใจ หากความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นกับเราบ้าง แต่สิ่งที่เราต้องทำ คือ กำจัดความรู้สึกเบื่อหน่ายนั้นให้หมดไป
คนทำ งาน หลายคนอาจจะต้องประสบพบเจอกับอาการ เบื่องาน อยู่ตลอดเวลา ในขณะที่คนทำงานอีกหลาย ๆ คนไม่เคยต้องพบกับความรู้สึกนี้เลย ไม่ใช่เพราะเขาไม่เคยรู้สึกเบื่อ แต่เป็นเพราะว่าเขาสามารถจัดการกับความเบื่อ และหากิจกรรมอย่างอื่นมาทำทดแทนได้ ทำให้เขาไม่เคยรู้สึกเบื่องานเลยนั่นเอง
บางครั้ง เราอาจต้องทำความเข้าใจว่าความเบื่อหน่ายสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกอาชีพ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดการ และหาทางออกให้กับความเบื่อหน่ายนั้นอย่างไร อาจขึ้นอยู่กับทัศนคติ และการปรับตัวของเราเอง jobsDB มี 4 วิธีการแก้เบื่อง่าย ๆ มาแนะนำกัน เผื่อว่าคนทำงานท่านอื่นจะนำไปใช้ เมื่อเกิดอาการเบื่องานขึ้นมาแบบไม่ทันตั้งตัว
1. ทำให้ตัวเองยุ่งอยู่เสมอ
ต้องยอมรับว่าการที่เรา ว่างงาน หรือไม่มีอะไรทำเลยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราเกิดอาการเบื่อหน่าย หรือพาลคิดไปว่างานที่เรากำลังทำอยู่นั้นน่าเบื่อ ความจริงแล้วงานที่เราทำอาจไม่ได้น่าเบื่อ แต่เป็นเราเองที่เบื่อ หากต้องอยู่เฉย ๆ คนทำงานบางคนหางานอดิเรกอย่างอื่นทำหลังเลิกงาน หรือแม้แต่หา งานฟรีแลนซ์ ทำ เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าตัวเองว่างเกินไป หรือแม้แต่ หากเขารู้สึกว่า งานประจำ ที่เขาทำอยู่นั้นขาดความท้าทาย เขาก็จะหางานอย่างอื่นทำควบคู่กัน
แต่ถึงแม้ไม่หางานพิเศษอื่น ๆ ทำ คนที่อยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ก็จะหางานอย่างอื่นในออฟฟิศทำ นอกจากตัวเองจะไม่ต้องอยู่เฉย ๆ แล้ว ยังเป็นการเสริมความรู้ และท้าทายความสามารถตัวเองอีกทางหนึ่งด้วย การทำให้ตัวเองยุ่งอยู่เสมอ จะช่วยให้เราบอกลาความน่าเบื่อหน่ายที่อาจะเกิดขึ้นในที่ทำงานได้
2. หาโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจทำ
เมื่อมาทำงาน ไม่จำเป็นว่าเราต้องทำเฉพาะสิ่งที่เราได้รับมอบหมายเพียงอย่างเดียว เราสามารถหางาน หรือคิดโปรเจ็กต์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานของเราทำได้ด้วย หากเราทำ งานบัญชี เราอาจจะคิดทำโปรเจ็กต์ที่เป็นประโยชน์ หรือช่วยจัดระเบียบงานบัญชีขึ้นมา เมื่อเราว่างจากงานที่ต้องทำเป็นประจำ ๆ ทุกวันแล้ว การแบ่งเวลาส่วนหนึ่งมาทำโปรเจ็กต์ จะทำให้เราพบว่าชีวิตเรามีอย่างอื่นที่น่าสนใจทำอีกนอกจากสิ่งที่ต้องทำอยู่ทุกวัน หรืออาจจะเป็นงานที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับงานที่เราทำ แต่เป็นการคิดโปรเจ็กต์ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อองค์กร หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจก็ได้เช่นกัน
3. อ่านข่าวที่บทความที่น่าสนใจ
เมื่อเราเริ่มรู้สึกเบื่อ ให้แบ่งเวลาส่วนหนึ่งมาอ่านข่าว บทความที่เราสนใจ หรือเล่นเกมส์ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเครียด การได้อ่านข่าวหรือบทความดี ๆ จะทำให้เรารู้สึกเพลิดเพลิน และลืมไปเลยว่าเราเคยรู้สึกเบื่อหน่ายจาก การทำงาน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การพักผ่อนเช่นนี้ ก็ต้องดูความเหมาะสมด้วย ไม่ควรใช้เวลาให้มากเกินไป หรือเบียดบังเวลาในการทำงาน เพราะอาจจะถูกเจ้านายตำหนิได้ หรือเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ อาจจะมองว่าเราไม่ขยันทำงาน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้
4. พัฒนาทักษะเกี่ยวกับการทำงาน
ส่วนใหญ่แล้วความรู้สึกเบื่อหน่ายจะเกิดขึ้นเมื่อเราว่างจากการทำงานเป็นเวลานาน ๆ เมื่อว่างจากงานที่ทำแล้ว ลองถามตัวเองดูว่าอยากฝึกฝน ทักษะในการทำงาน ใดเพิ่มเติมหรือไม่ หากมีทักษะที่อยากฝึกฝนหรือศึกษาเพิ่มเติม ให้ลองหาว่ามีอะไรที่เราสามารถทำได้ดีบ้าง หากมีมากกว่าหนึ่ง ให้ลองเลือกว่าจะฝึกทักษะไหนก่อน การเริ่มต้นฝึกทักษะที่เราสนใจ จะทำให้เราตั้งใจมากเป็นพิเศษ เมื่อรู้ว่าอยากทำอะไร ให้ฝึกฝนทักษะนั้นบ่อย ๆ เพื่อที่เราจะได้มีความเชี่ยวชาญในสิ่งนั้นอย่างแท้จริง การใช้เวลาส่วนหนึ่งหมดไปกับการฝึกทักษะต่าง ๆ จะทำให้เรารู้สึกว่างานที่เราทำไม่น่าเบื่อ เพราะถึงแม้จะเบื่อ เราก็มีอย่างอื่นทำทดแทน โดยไม่เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
กิจกรรมที่เราสามารถทำแก้เบื่อในที่ทำงานมีมากมายหลากหลาย สิ่งที่เราเลือกจะมาทำ อาจไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเพียงอย่างเดียวก็ได้ อาจะเป็นกิจกรรมยามว่างที่เราชอบทำ เช่น การอ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือแม้กระทั่งการนอน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ แต่ต้องดูความเหมาะสมด้วยว่าสามารถทำได้จริง ๆ ไม่ควรทำ หากว่าเราไม่ได้ว่างจากการทำงานจริง ๆ เพราะจะเป็นการเอาเปรียบเวลาในการทำงานของคนอื่นได้
ภาพประกอบโดย jesadaphorn เว็บไซต์ freedigitalphotos.net
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ