เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ก.ค. สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนาหัวข้อ “เจาะลึก AEC กับวิชาชีพวิศวกรรม : ความท้าทายและโอกาส” ซึ่งเวทีเสวนามองว่า วิชาชีพ วิศวกร มีทั้งจุดแข็ง และยังมีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง เพื่อเตรียมรับมือการรุกคืบของกลุ่มวิชาชีพจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการสำนักการค้าบริการและการลงทุน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศวิเคราะห์วิชาชีพวิศวกรว่า ความเปลี่ยนแปลงของวิชาชีพวิศวกรหลังการเปิด AEC มี 2 ประเด็นหลัก คือ ความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจวิศวกร และความเปลี่ยนแปลงของแรงงานวิชาชีพวิศวกร ในส่วนความเปลี่ยนแปลงของแรงงานวิชาชีพนั้น ยังมีแนวโน้มจะเกิดปัญหาอยู่มาก เพราะ วิศวกรไทย ยังขาดอยู่ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือภาษาพูดการสื่อสารให้เข้าใจ เรื่องที่สองคือแรงจูงใจวิศวกรไทยจำนวนมากยังขาด แรงจูงใจในการทำงาน ต่างประเทศ เรื่องสุดท้ายคือความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบในแต่ละประเทศ ทั้งนี้ ภาครัฐได้พยายามสนับสนุนแรงงานวิชาชีพต่าง ๆ โดยกระทรวงแรงงาน กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาสวัสดิการให้แรงงานต่างชาติที่มาทำงานในไทยและสวัสดิการแรงงานไทยที่จะไปทำงานในต่างชาติในอนาคต อย่างไรก็ดี ภาครัฐสามารถช่วยสนับสนุนภาคเอกชนได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ภาควิศวกรต้องหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย
ปัจจุบัน อาเซียนมีวิศวกรไม่ถึง 0.25% ของประชากรอาเซียนทั้งหมด ประเทศที่มีสัดส่วนผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรมากที่สุด คือ สิงคโปร์ คิดเป็น 2.1% ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่เทียบเป็นจำนวน เวียดนามมีวิศวกรสูงสุดอยู่ที่ 8 แสนคน รองลงมาคือ อินโดนีเซีย และไทย
นายพิสิฐ พุฒิไพโรจน์ นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย มองว่า ประเทศหลัก ๆ ที่เรายังด้อยกว่าใน AEC ได้แก่ สิงคโปร์และมาเลเซีย หากวิเคราะห์ต่อเนื่องถึงการสนับสนุนของภาครัฐจะพบว่า ภาครัฐของทั้ง 2 ประเทศ มีนโยบายสนับสนุนเงินช่วยเหลือให้เปล่า มาตรการทางภาษี และมาตรการทางการเงิน แต่ประเทศไทยกลับยังไม่มีการช่วยเหลือที่ชัดเจนเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ดี สำหรับวิชาชีพ วิศวกรที่ปรึกษา การ “ไปเดี่ยว” ง่ายกว่า “ไปเป็นกลุ่ม” เพราะหากไปเดี่ยวมีเพียงใบอนุญาตก็ไปได้ แต่หากไปเป็นนิติบุคคลต้องมีมาตรฐานอื่น ๆ ที่เป็นสากลอย่างครบถ้วน อีกทั้งช่วงเริ่มต้นมักมีปัญหาเรื่องการบริหารสัญญา ทั้งนี้ ผู้ประกอบการนิติบุคคล ควรขอมาตรฐาน ISO เพื่อรับประกันคุณภาพของบริษัท และต้องมี “เพื่อน” ที่เป็นชาวประเทศนั้น ๆ ด้วย โดยอาจเชิญเขามาดูงานที่ไทยก่อน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสถาปนิกมีกฎหมายกรองรัดกุม
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ