หลังจากมีข่าวเกี่ยวกับ อาชีพที่จะเปิดเสรีให้ทำงานได้ทุกประเทศในอาเซียน 7 อาชีพเมื่อเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558 นั้น ก็มีความเคลื่อนไหวจากทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ออกมาแสดงความเป็นห่วง วิศวกร ของไทยว่ามีความเสี่ยงที่จะ ตกงาน เนื่องจากเมื่อเปิดเสรีอาเซียนจะมีวิศวกรต่างชาติไหลเข้าประเทศมาแย่งงานวิศวกรไทย ทำให้วิศวกรไทย หางาน ยากขึ้น ตกงานมากขึ้น เราเองจะไปทำงานต่างประเทศก็เสียเปรียบ เพราะหลักสูตรวิศวกรรมของไทยยังไม่ได้มาตรฐานอินเตอร์
รศ.ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างบรรยายในหัวข้อ "วิสัยทัศน์ในการพัฒนาหลักสูตร และการเรียนรู้เชิงบูรณาการของวงการวิศวกรรมศาสตร์ไทย เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558" ว่า ในด้าน งานวิศวกรรม เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนปี 2558 จะได้สิทธิ์เคลื่อนย้ายอย่างเสรีตามข้อตกลงของประเทศสมาชิก ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นจริงก็จะมีวิศวกรทั้งในและต่างประเทศไหลเข้าและไหลออกประเทศอย่างมากจนเกิดการแย่ง งาน ซึ่งหากวิชาชีพวิศวกรรมของไทยจะอยู่รอดได้ก็ต้องมีการเพิ่มคุณภาพและความหลากหลายในวิชาชีพ
ทางออกสำหรับรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวคือ เรามีความจำเป็นที่จะต้องยกคุณภาพหลักสูตร เพิ่มศักยภาพด้านภาษาอังกฤษ และเพิ่มความหลากหลายของสาขาวิชาจึงจะสู้ต่างชาติได้
ประการแรก - หลักสูตรวิศวกรรมของจุฬาฯ ต้องเป็นที่ยอมรับจากสากลอย่างปัจจุบันหลักสูตรวิศวกรรมทั่วโลกที่จะได้รับการยอมรับจากสากลนั้นต้องผ่านการประเมินและรับรองจากคณะกรรมการรับรองหลักสูตรสำหรับวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี หรือเอเบ็ด จากประเทศสหรัฐอเมริกาก่อนซึ่งในภูมิภาคอาเซียนมีมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์และมาเลเซียได้รับการรับรองกันหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เราจะมีสภาวิศวกรคอยรับรองหลักสูตรและควบคุมวิชาชีพกันเองในประเทศ แต่ก็ยังมีปัญหาตัวสภาวิศวกรเองก็ยังไม่ถูกยอมรับจากสากล ทำให้บัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมของไทยทั้งหมดอาจเสียเปรียบตอนพิจารณาค่าแรงได้เมื่อเปิดประชาคมอาเซียน เพราะบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์และมาเลเซียที่เรียนในหลักสูตรเอเบ็ดรับรองก็จะมีการกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำที่สูงกว่าหลักสูตรที่เอเบ็ดไม่รับรอง ทั้งนี้ การจะให้เอเบ็ดมาประเมินและรับรองนั้นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และต้องรักษาสภาพการรับรองทุกปี ซึ่งคิดเป็นปีละ 3-4 ล้านบาท
ดังนั้น จึงหาวิธีแก้ปัญหาโดยการไปจับมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของต่างประเทศทั้งจีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฯลฯ เพื่อทำการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและแลกเปลี่ยนกันทางวิชาการ เพื่อทำให้หลักสูตรวิศวกรรมของจุฬาฯ เป็นที่ยอมรับจากสากล ถึงแม้เอเบ็ดจะยังไม่ได้รับรองหลักสูตรก็ตาม นอกจากนี้ ยังได้กำหนดจุดเน้นนักศึกษาให้ตรงกับการประเมินของเอเบ็ดด้วย อาทิ นศ.จบชั้นปีที่ 1 ต้องสร้างบ้านได้ นศ.จบชั้นปีที่ 2 ต้องสร้างสะพานข้ามแม่น้ำได้ นศ.จบชั้นปีที่ 3 ต้องสร้างตึกสูงได้ เป็นต้น
ประการที่สอง-เพิ่มศักยภาพทางภาษาให้กับนักศึกษาโดยคณะได้เพิ่มวิชาเรียนเป็น ภาษาอังกฤษ ให้นักศึกษาที่เรียนหลักสูตรภาษาไทยได้เลือกเรียน จัดห้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษโดยให้สถาบันสอนภาษามาสนับสนุน และจูงใจให้นักศึกษาที่เข้ารับการอบรมภาษาอังกฤษดังกล่าวได้สอบโทเฟล ซึ่งหากสอบผ่านคณะก็จะคืนเงินค่าสอบให้ แต่หากสอบไม่ผ่านก็ต้องไปอบรมภาษาเพิ่ม นอกจากนี้ยังเพิ่มวิชาการเรียนรู้วัฒนธรรมเพื่อนบ้าน การปรับปรุงหลักสูตรและการเพิ่มศักยภาพนักศึกษาทั้งหมดได้เริ่มใช้แล้วในปีการศึกษา 2554 นี้
"ผมมองว่าเป็นการสิ้นเปลืองมากหากทุกมหาวิทยาลัยในไทยจะเป็นสมาชิกเอเบ็ด ดังนั้นวิธีที่จะประหยัดงบได้คือต้องให้สภาวิศวกรได้รับการยอมรับจากเอเบ็ดอย่างเดียวก็พอ เพื่อมาประเมินกันเองในประเทศต่อไป แต่ปัจจุบันติดปัญหาว่าไม่มีผู้บริหารคนใดคอยผลักดันเรื่องดังกล่าวทั้ง ๆ คณบดีวิศวกรรมทุกแห่งก็เห็นด้วย แต่เพราะตัวสภาวิศวกรเองสำนักงานคณะกรรมการการอุดม ศึกษา (สกอ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ไม่ช่วยผลักดัน ทำให้หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ในไทยยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร และอาจเสียโอกาสได้ในเวทีอาเซียน" รศ.ดร.บุญสมกล่าว
ส่วนอนาคตของวิศวกรรมไทยโดยเฉพาะสาขาวิชาวิศวกรรมพื้นฐาน ตนมองว่าอาจไม่รอด เพราะวิศวกรรมพื้นฐานจะมีแรงงานจำนวนมาก ดังนั้นองค์ความรู้ต่อไปจะลงลึกไปมากกว่านี้ และจะผสมผสานข้ามไปยังศาสตร์อื่น ๆ จนเกิดเป็นศาสตร์ใหม่ขึ้นมา อาทิ วิศวกรรมชีวเวช ซึ่งคณะก็เปิดสอนอยู่ในระดับ ป.โท โดยเป็นการนำสาขาวิชาวิศวกรรมไปเรียนร่วมกับวิชาแพทย์ เพื่อให้บัณฑิตสามารถคิดค้นทำเครื่องมือแพทย์ใหม่ ๆ ตามหลักวิศวกรรม วิศวกรรมบัญชี โดยเป็นการนำสาขาวิชาวิศวกรรมไปเรียนร่วมกับสาขาวิชาบัญชี เพื่อเป็นทางเลือกให้บัณฑิตได้ เป็นต้น
ที่มา:ไทยโพสต์ออนไลน์
เรื่องอื่น ๆที่น่าสนใจ