ณรงค์วิทย์ แสนทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเพิล แวลูว์ จำกัด ที่ปรึกษาด้านเอชอาร์ (Human Resource) เตือนทุกองค์กรให้ความสำคัญกับการสร้างความประทับใจให้พนักงานใหม่ แนะ 4 แนวทางปลื้มแบบไม่มีวันลืม
1.ดูแลเขาก่อนเวลา ดีกว่าเสียเวลามาแก้ไข
พนักงานใหม่ส่วนใหญ่เขามาถึงที่ทำงานก่อนเวลาเพราะยังประเมินเวลาในการเดินทางได้ไม่ดี องค์กรควรจะหาใครสักคนมา ดูแลพนักงาน ใหม่ตั้งแต่เขาออกจากบ้านระหว่างเดินทางจนมาถึงบริษัท เช่น โทรหาเพื่อเช็คว่าเขาเดินทางเป็นอย่างไรบ้าง มีคนมาเช้าตรู่สักคนที่คอยมาบอกพนักงานใหม่ว่าถ้ามาเช้าให้ไปหาข้าวกินที่ไหน ห้องน้ำอยู่ตรงไหนบ้าง ที่นั่งที่สบาย ๆ มีที่ไหนบ้าง แล้วมาเจอกันจริง ๆ สักกี่โมง เวลาก่อน ปฐมนิเทศ นี่แหละสำคัญกว่าเวลาอื่น เพราะเป็นเวลาที่พนักงานใหม่ต้องการเรามากที่สุด พอถึงเวลาปฐมนิเทศเขาต้องการเราน้อยลง เพราะเขาเริ่มปรับตัวได้บ้างแล้ว ชีวิตผ่านจุดลำบากในช่วงเช้ามาแล้ว
“คนทำ งาน HR พร้อมเสียสละเวลามาเช้าสักคนสักวันได้ไหม หากทำไม่ได้อย่าหวังว่าจะได้ใจพนักงานใหม่”
2.เทคแคร์พนักงานใหม่ตามความรู้สึกของเขา ไม่ใช่ตามความคิดของเรา
ผมเชื่อว่ามาตรฐานการดูแลพนักงานใหม่ของหลายองค์กรเกิดจากคนทำงานด้าน HR คิดเอาเอง เชื่อเอาเอง ลอกเลียนแบบมาจากที่อื่นว่าการดูแลพนักงานใหม่จะเริ่มต้นเมื่อถึงเวลาทำงานที่นัดหมายกันไว้เท่านั้น การที่พนักงานใหม่มาก่อนไม่ใช่ความผิดของเรา เรานัดเก้าโมงตรง เขามาหกโมงเช้าก็เรื่องของเขา นี่คือความคิดที่ผิดอย่างมหันต์
เราต้องจัดบริการหรือมาตรฐานการดูแลพนักงานใหม่ให้ตรงกับพฤติกรรมของเขาซิครับ เช่น ส่วนใหญ่เขามาเช้า เราก็ต้องปรับเวลาการดูแลเขาใหม่ ส่วนใหญ่เขาไม่ค่อยรู้จักสถานที่เราต้องแนะนำเขาก่อนที่เขาจะมาวันแรกดีไหม เขาไม่รู้จักใคร เราควรจะมีกระบวนการวิธีการให้เขารู้จักเพื่อนใหม่ก่อนดีไหม เขาเพิ่งจบมาทำงานครั้งแรกไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับชีวิตคนทำงานเราควรจะมีเอกสารหรือคู่มืออะไรให้เขาอ่านมาก่อนวันมาเริ่มงานไหม
“บริการเขาแบบที่เขาต้องการ ไม่ใช่แบบที่เราคิดเอง”
3.การต้อนรับพนักงานใหม่ไม่ใช่หน้าที่ใคร แต่เป็นของทุกคนในองค์กร
ไม่อยากเห็น “แขกใครก็คนนั้นต้อนรับ” ผมอยากให้องค์กรประกาศให้พนักงานทุกคนทราบล่วงหน้าว่าวันนั้นวันนี้เราจะมีสมาชิกใหม่เข้ามาร่วมงานกับเรามีกี่คนตำแหน่งอะไรบ้าง หรือชื่ออะไรบ้าง รูปร่างหน้าตาเป็นแบบไหน ติดประกาศในเว็บไซต์ บนบอร์ดหรือสื่อไหนขององค์กรก็ได้ และให้พนักงานทุกคนตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงพนักงานทำหน้าที่เป็นเจ้าของบ้าน เป็นรุ่นพี่ ต้อนรับพนักงานใหม่ เสมือนเราเป็นเจ้าของบ้าน
อย่างน้อย ๆ ก็ต้องทักทาย พูดคุย เสนอให้ความช่วยเหลือ หากพอจำได้ว่าคนนี้น่าจะชื่อนี้ตำแหน่งนี้ สามารถทักชื่อเขาก็ได้ เหมือนกับการที่เราเข้าไปรับบริการที่ไหนสักแห่งแค่ไปถึงป้อม รปภ.เขาก็ทักชื่อเราขึ้นมาแค่นี้เราก็รู้สึกดีกับองค์กรนั้น แล้ว
“ทุกคนเป็นเจ้าของบ้าน”
4.ลงทุนวันแรกกำไรดีกว่าวันต่อๆ มา
การ สร้างความประทับใจ ในวันแรกแม้จะลงทุนน้อย เช่น จัดเตรียมอาหารเช้า กาแฟ น้ำดื่ม เหมือนเลี้ยงพนักงานฝึกอบรม ดีกว่าจะมาเลี้ยงหรูเลี้ยงใหญ่ในวันที่เขาไม่ประทับใจองค์กรแล้ว
ดังนั้น ในวันแรกอะไรที่ลงทุนแล้วคุ้มค่าก็น่าจะทำ เช่น หากให้ทุกคนเบิกค่าเดินทางในวันแรกได้ คิดว่าจะรู้สึกดีไหม? เลี้ยงอาหารทุกมื้อของวันแรกจะดีไหม? แจกเอกสารก่อนที่เขาจะมา ทำงานวันแรก เรื่องการเตรียมตัวเตรียมใจกับองค์กรใหม่จะดีไหม? ให้หัวหน้าแต่ละคนโทรหาพนักงานใหม่ก่อนวันเริ่มงานล่วงหน้าหนึ่งวันคิดว่าเขาจะรู้สึกดีกว่าไหม?
ผมเคยแนะนำให้ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรมาทำงานวันแรกเช้ามาก และให้เดินทักทายพนักงานใหม่ โดยที่ไม่ต้องแนะนำตัว แต่พูดคุยกับทุกคนแบบเป็นกันเอง พนักงานบางคนคิดว่าคนนี้คงเป็นพนักงานธรรมดา พนักงานบางคนคิดว่าคนนี้คงเป็นพนักงานขับรถ ฯลฯ เขาเลยคุยอย่างสนิทใจ
พอมารู้ทีหลังว่าคนที่มาคุยกับเขาในวันแรกที่เขามาทำงานนั้นเป็นเจ้าของบริษัทเป็นผู้บริหารระดับสูง คุณคิดว่าพนักงานใหม่จะรู้สึกอย่างไร แน่นอนประทับใจไปตลอดชีวิตการทำงาน เพราะหลังจากนั้นโอกาสที่เขาจะได้เจอได้พูดคุยกับผู้บริหารระดับนี้ยากมาก
“ลงทุนวันแรก กำไรกว่าวันไหน ๆ แน่นอน”
ผมอยากให้องค์กรต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับจุดเล็ก ๆ ของพนักงานใหม่ที่หลายองค์กรมองข้ามไป และผมก็เชื่อว่ามีหลายองค์กรที่ได้ดูแลพนักงานใหม่เป็นอย่างดี ซื้อใจเขาได้ตั้งแต่วันแรก ประทับใจตั้งแต่วันแรก
ความประทับใจก็ไม่แตกต่างจากความเชื่อ หากความเชื่อไหนเข้ามาในชีวิตเราก่อน ความเชื่อใหม่ก็จะเข้ามาเปลี่ยนความเชื่อเก่าได้ยาก การสร้างความประทับใจให้พนักงานใหม่ก็เช่นเดียวกันกับการใส่ความเชื่อแรกไว้ในหัวพนักงานใหม่นะครับ
อยากทิ้งท้ายไว้ว่า “พนักงานใหม่คือความหวังใหม่ขององค์กร อย่าทำให้เขาผิดหวังตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน” นะครับ
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ