“ลาออก” อาจเป็นคำที่คนรุ่นเก่าไม่คุ้นเคยเพราะคนรุ่นพ่อรุ่นแม่มักนิยมทำงานที่เดียวไปนาน ๆ เรียกได้ว่าบางคนอาจไม่เคยได้ลาออกจนกระทั่งเกษียรงานเลยด้วยซ้ำ แต่ไม่ใช่กับคนสมัยนี้ ที่การเปลี่ยนงานเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา จากบทความเรื่อง Who is Driving the Great Resignation? โดย Ian Cook ที่ตีพิมพ์ใน Harvard Business Review ได้อ้างอิงข้อมูลของสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐที่พบว่าในเดือน ก.ค. 2564 มีชาวอเมริกันกว่า 4 ล้านคนลาออกจากงาน
และการลาออกของมนุษย์เงินเดือนจำนวนมากไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในอเมริกาเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก จากการวิเคราะห์ข้อมูลในบันทึกพนักงานกว่า 9 ล้านคนจากบริษัทกว่า 4,000 แห่งทั่วโลกในหลากหลายอุตสาหกรรมพบว่าอัตราการลาออกที่สูงที่สุดเกิดกับพนักงานระดับกลางที่อายุระหว่าง 30-45 ปี เฉลี่ยมากกว่า 20% ในระหว่างปี 2563 และ 2564 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอัตรา Turnover Rate ที่ค่อนข้างสูง
จนเกิดเป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่า The Great Resignation หรือ The Big Quit จากมนุษย์เงินเดือนที่เริ่มมองชีวิตการทำงานเปลี่ยนไปหลังจากที่โรคโควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิต
การลาออกอาจไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ถ้าพนักงานคนนั้นไม่ได้มีประสิทธิภาพหรือไม่ได้มีความสำคัญกับบริษัท แต่คำถามคือ ถ้าพนักงานที่กำลังจะลาออกเป็นพนักงานชั้นยอดที่บริษัทไม่อยากเสียไปล่ะ? สิ่งใดที่จะรั้งพนักงานคนนั้นได้นอกจากการให้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเรื่องเงินไม่ใช่ประเด็นหลักสำหรับพนักงานคนนั้นแล้ว
บริษัทจะหาวิธีไหนมาใช้รักษาพนักงานคนนี้ คำตอบก็คือ การสร้างความผูกพันระหว่างพนักงานกับองค์กร เพื่อช่วยพยุงความสัมพันธ์และเป็นวิธีชั้นยอดที่จะช่วยเหนี่ยวรั้งพนักงานปัจจุบันที่มีคุณภาพให้อยู่ต่อ รวมไปถึงดึงดูดพนักงานระดับ Talents หน้าใหม่ให้เข้ามาร่วมงานกับบริษัท
วัฒนธรรมองค์กรที่ดีต้องเริ่มจากผู้นำ หากผู้บริหารมีจิตใจรักองค์กร พร้อมสร้างความสมานฉันท์ ทำงานเป็นทีม ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีก็ย่อมจะสร้างบรรยากาศและพลังงานดี ๆ ในออฟฟิศ นอกจากนี้ยังมีการศึกษามากมายที่ระบุว่า ผู้ที่จะสร้างความผูกพันในองค์กรได้ต้องเริ่มจากบุคคลในระดับผู้บริหาร ผู้จัดการ หัวหน้างาน และพนักงานอาวุโส ที่มองเห็นคุณค่าของการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรและถ่ายทอดไปยังพนักงานที่มีตำแหน่งลดหลั่นกันลงไป
หัวหน้างานที่ดีควรให้ความสำคัญกับลูกน้อง ทั้งในเรื่องของการทำงานและเรื่องชีวิตส่วนตัว หากหัวหน้ามองเห็นความสำคัญและให้คุณค่ากับงานที่ลูกน้องทำก็จะช่วยสร้างความผูกพันและความสัมพันธ์ที่ได้ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องได้ หรือถ้าหัวหน้ามีความเห็นอกเห็นใจลูกน้องในเรื่องส่วนตัว เช่น เมื่อมีคนในครอบครัวของลูกน้องเจ็บป่วย ก็อนุญาตให้ลาเพื่อให้ลูกน้องไปดูแลคนครอบครัว หรือคอยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ก็จะช่วยซื้อใจลูกน้องและสร้างความผูกพันขึ้นมาได้
การสื่อสารถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานให้ประสบความสำเร็จ ผู้นำที่ยิ่งใหญ่หลาย ๆ คนให้ความสำคัญกับการสื่อสารมาก เพราะหากสื่อสารได้ดี เข้าใจเรื่องเดียวกันแล้ว ก็จะทำให้การทำงานง่ายขึ้นและประสบความสำเร็จได้ ยิ่งในการสร้างความผูกพันและความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กรแล้ว การสื่อสารเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะยิ่งสื่อสาร ยิ่งเข้าใจและผูกพันกันแน่นแฟ้นมากขึ้น
คุณควรตระว่าไม่ใช่ทุกคนจะชอบของอย่างเดียวกัน การปฏิบัติต่อพนักงานก็เช่นกัน คุณควรรู้ว่าพนักงานแบบไหนควรปฏิบัติด้วยอย่างไรถึงจะซื้อใจพวกเข้าได้ ที่สำคัญไปกว่านั้นควรเอาความต้องการของพนักงานเข้ามาเป็นข้อในการพิจารณาด้วย เพราะสุดท้ายแล้วพนักงานจะรู้สึกดีกับองค์กรที่ปฏิบัติต่อพวกเขาแบบที่พวกเขาต้องการมากกว่า
สมัยนี้เงินไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้พนักงานอยู่กับองค์กรอีกแล้ว และคนที่ดีอาจจะไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงินด้วยซ้ำ ดังนั้นบริษัทจึงความสร้างวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยแรงจูงใจ เช่น การทำงานที่นี่ให้อะไรได้มากกว่าเงิน มอบความก้าวหน้า พัฒนาความสามารถ หรือทำให้พนักงานเติบโตไปพร้อม ๆ กับบริษัทได้อย่างไรบ้าง
นอกจากบริษัทจะมีสิทธิประเมินพนักงานแล้ว ถ้าอยากให้พนักงานรักในองค์กร ก็ต้องอนุญาตให้พนักงานประเมินบริษัทได้ด้วยเช่นเดียวกัน ศึกษาอย่างจริงจังว่าพนักงานชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ผ่านแบบสำรวจ เพื่อมองหาจุดเด่นและจุดด้อยขององค์กรเอามาพัฒนาปรับปรุงแก้ไข เพื่อสร้างความผูกพันและวัฒนธรรมองค์กรแบบที่คนที่ทำงานอยู่มีความสุขที่จะมาทำงานจนไม่อยากลาออก
นอกจากเงิน ที่เป็นรางวัลที่พนักงานอยากได้แล้ว ยังมีชื่อเสียงให้ความสำเร็จที่พนักงานก็อยากได้เช่นกัน บางคนอาจจะอยากได้รับการยอมรับและยกย่องในความสำเร็จมากกว่าเงินด้วยซ้ำ หากพนักงานทำดี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการทำงาน หรือการมีพฤติกรรมที่ดี บริษัทควรให้คุณค่า และแสดงออกถึงการให้คุณค่านั้น ผ่านการให้รางวัลที่นอกเหนือไปจากเงิน อาจจะเป็นโล่ประกาศเกียรติคุณ ที่จะทำให้พนักงานรู้สึกภูมิใจว่าบริษัทเห็นคุณค่า และเป็นแบบอย่างให้คนอื่น ๆ อยากทำตาม
เป้าหมายของการทำงานคือความสำเร็จ องค์กรที่ดีจึงควรสร้างวัฒนธรรมการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นในระดับหัวหน้าและลูกน้อง ที่หัวหน้าควรเป็นผู้ชี้แนะ และให้คำแนะนำในการทำงาน รวมไปถึงคอยติดตามผลงานของลูกน้อง และในระดับเพื่อนร่วมงาน ที่ควรสนับสนุนการทำงานของกันและกัน ให้คำแนะนำในมุมมองที่อีกคนอาจมองข้ามไป เน้นการทำงานเป็นทีมที่คอยช่วยเหลือกันมากกว่าการโตไปคนเดียว
แน่นอนว่าการที่องค์กรสร้างความผูกพันขึ้นมาภายในก็เพราะไม่อยากให้พนักงานลาออก แต่พนักงานที่บริษัทจะต้องรั้งไว้ก็ต้องเป็นพนักงานที่ดีมีคุณภาพด้วย ดังนั้นบริษัทจึงควรให้ความสำคัญกับผลงานของพนักงานเป็นอันดับต้น ๆ เพราะที่จะทำให้บริษัทเติบโตไปได้ คือพนักงานที่ทำงานได้ดีและมอบผลลัพธ์ที่บริษัทต้องการ
ของทุกอย่างย่อมมีที่ที่เหมาะสม พนักงานก็เช่นกัน เมื่อคุณตั้งใจสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมาแล้ว ก็ควรมองหาพนักงานที่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรนั้น ๆ เข้ามาทำงานด้วย เพราะถ้าหากบริษัทและพนักงานไม่ได้มองเห็นภาพและจุดหมายเดียวกันอยู่ ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้พนักงานคนนั้นผูกพันกับองค์กรได้
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%84%e0%b8%b8%e0%b8%93%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%9a%e0%b8%b1%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%84%e0%b9%8c%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%94%e0%b8%b5/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%94%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b9%89/