บางคนชอบทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ เช่น การเดาะลิ้นเวลารับประทานอาหาร ซึ่งถ้าอยู่ในยุโรป การทำพฤติกรรมไร้มารยาทเช่นนี้มักถูกรังเกียจอย่างรุนแรง มีคนที่พอรู้เช่นนั้นแล้วเลิกทำ แต่ก็มีบางคนที่ถึงจะบอกไปก็ไม่ได้แก้ไข หรือไม่คิดจะแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าว
คนประเภทหลังที่ไม่รู้จักเรียนรู้นั้น ต้องให้ไปอยู่ที่ยุโรปและได้รับความอับอายสักครั้งถึงจะดี เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น คนประเภทนี้ก็จะไม่มีวันรู้สึกถึงพฤติกรรมอันน่ารังเกียจดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้ การปล่อยให้ลูกน้องทำเรื่องผิดพลาดก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เป็นหัวหน้าพึงกระทำ หากอยู่ในขอบเขตที่หัวหน้าสามารถเฝ้าดูได้ และถึงแม้จะผิดพลาดก็แค่เจ็บตัวเพียงเล็กน้อย แต่การที่ได้รับรู้รสชาติของความเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นนั้น จะทำให้เขารู้สึกตัวว่าตัวเองทำผิด
แม้แต่การขับรถก็เหมือนกัน ในตอนแรกที่ถอยรถเข้า ๆ ออก ๆ ก็คงมีบ้างที่เอาด้านข้างไปถู หรือไปชนกับรถข้าง ๆ ที่ลานจอดรถของซูเปอร์มาร์เก็ต หรือไม่ก็ต้องเคยเกิดอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งนั่นก็จะทำให้ผู้ขับมีความชำนาญในการขับรถมากขึ้น คนที่ไม่เคยประสบอุบัติเหตุเลยแม้แต่ครั้งเดียว พอผ่านไป10 ปี 20 ปี กลับประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่รุนแรงถึงชีวิต ที่เป็นเช่นนั้นเพราะพวกเขามีความมั่นใจในตัวเองมากเกินไปจนทำให้เกิดความพลั้งเผลอได้
ในด้านธุรกิจก็เช่นกัน ควรให้ลูกน้องได้รู้จักกับความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยเร็ว ดีกว่าที่จะให้กลายเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวงที่ทำให้โครงสร้างของบริษัทสั่นคลอนในภายหลัง
ตัวอย่างเช่นเมื่อดูงานของลูกน้องจากประสบการณ์ก็พอจะรู้ว่า “ตรงนี้ผิด” แต่ก็ยังบอกกับลูกน้องว่า “โอ้! ทำได้ดีนี่นา...พยายามทำต่อไปนะ” แล้วปล่อยให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นอย่างที่คาดไว้
ถึงตอนนั้นค่อยตั้งคำถามว่า “ตรงนี้เป็นอะไรเหรอ” “ ทำไมเป็นแบบนี้ล่ะ ตรงนี้ควรเป็นอย่างนี้ไม่ใช่หรอ” และถามซ้ำไปซ้ำมาจนกระทั่งเขารู้ตัวว่าตัวเองทำผิด เมื่อลูกน้องรู้สึกตัวและก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง ก็ชมว่า “ถ้าจะทำ ก็ทำได้นี่”
คนที่เคยประสบความผิดพลาดเช่นนี้ จะไม่ทำความผิดเหมือนเดิมเป็นครั้งที่สอง แต่ในทางกลับกัน หากหัวหน้าบอกไปกลางคันเพื่อป้องกันความผิดพลาด ลูกน้องก็คงคิดว่า “ถ้าทำตามที่หัวหน้าบอก แม้สามารถบรรลุผลได้จริง แต่ทำตามวิธีการของฉันน่าจะได้ผลดีกว่ามั้ง” แล้วเรื่องเราวความสำเร็จที่ไม่มีตัวตนจะค่อย ๆ ฟูฟ่องอยู่ภายในใจของคนคนนั้น และสะสมกลายเป็นแม็กม่าของความมั่นใจในตัวเองที่เกินขนาด และทำให้เกิดความเผอเรอในที่สุด
จากนั้นสักวันหนึ่งก็จะทำให้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ ซึ่งจะนำความโชคร้ายอันใหญ่หลวงมาสู่ทั้งบุคคลผู้นั้นและหัวหน้า ตลอดจนถึงองค์กร เพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องดังกล่าว ไม่มีทางอื่นนอกจากการทำให้เขาได้สัมผัสกับความผิดพลาด แต่หลังจากที่รู้สึกตัวก็จะทำให้เกิดโนว์ฮาวของตัวเองขึ้น
ฉะนั้นให้ตั้งคำถามไปเรื่อย ๆ ว่า “ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น” การอบรมสั่งสอน ก็คือสถานที่ทดสอบความอดทนของทั้งครูและศิษย์นั่นเอง
ที่มา : หนังสือ “ต้องกำจัดเก้าอื้ ถึงจะมีกำไร” โดย Sakamaki Hisashi แปลโดย สินี มิตานิ