เข้าสู่ปีใหม่ก็หวังว่าจะได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการทำงาน แต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอสักที ลองสร้าง แรงจูงใจในการทำงาน มาปรับความคิด เปลี่ยนมุมมอง บางทีไฟในการทำงานก็อาจจุดติดขึ้นมาได้ง่ายๆ เลยทีเดียว ดังนั้นเรามาดูวิธีจุดไฟในการทำงาน ก่อนจะเกิดอาการ Burn out Syndrome กันดีกว่า
เมื่อทำงานมาได้สักระยะมักจะมีอาการในการทำงานอยู่ 2 ลักษณะด้วยกัน คือ กลุ่มที่ยิ่งทำงานยิ่งมีแรงฮึดไฟในการทำงานลุกโชนยิ่งกว่าวันแรกที่เข้ามาทำงาน และกลุ่มที่ไฟมอดกลายเป็นพนักงานที่มีตัวตนยังมาทำงานอยู่ แต่ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนไฟแรงเกิดอาการหมดไฟในเวลาเพียงไม่นานกันล่ะ
การที่เราไม่สามารถจัดการปัญหา และตัดสินใจในเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการทำงานได้ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบกับการทำงาน เช่น การที่ไม่สามารถกำหนดตารางงานของตนเองได้ รวมไปถึงไม่สามารถรับผิดชอบงานของตนให้สำเร็จ เมื่องานไม่สำเร็จ หรือเสร็จล่าช้าก็ส่งผลให้ความมั่นใจในการทำงานลดลง และส่งผลกระทบต่อ ความพร้อมในการทำงาน
ความผูกพันกับองค์กรเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับการทำงานได้ โดยความผูกพันกับองค์กรในที่นี้คือการมีส่วนร่วมไปกับเป้าหมายขององค์กร ความผูกพันกับองค์กรนี้เป็นสิ่งที่เรามีอยู่กับตัวตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน เพียงแต่เมื่อเริ่มทำงานแล้วอาจไม่ได้รับโอกาสในการทำงานที่ถนัด หัวหน้าควบคุมทุกการกระทำอย่างใกล้ชิดจนเกินไป หรือออกความคิดเห็นแล้วโดนคัดค้าน การกระทำเหล่านี้ค่อยๆ บั่นทอนแรงใจในการทำงานให้น้อยลงไปจนพนักงานหมดไฟในการทำงาน
การที่เรามัวแต่ทำงานจนไม่มีเวลาพักผ่อนถือเป็นเรื่องที่ไม่ดีเท่าไหร่นัก เพราะนั่นสะท้อนถึงการจัดการงานที่ไม่ดี และส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว นอกจากนี้เวลาพักผ่อนในช่วงเย็น รวมถึงวันหยุดก็สำคัญเช่นกัน การได้พักผ่อนแบบมีคุณภาพ และได้พบปะเพื่อนเป็นครั้งคราวจะช่วยสร้างสมดุลที่ดีให้กับการทำงานได้อีกด้วย
สำหรับคนที่มีปัญหาและไม่ยอมรับว่ามีปัญหาเกิดขึ้นกับตัวเองย่อมไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นหากต้องการเปลี่ยนแปลงให้ตนเองกลับมามีไฟในการทำงานอีกครั้ง ก็ต้องยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเอง และส่งผลกระทบต่อผู้อื่น การวิ่งหนีปัญหาไม่ใช่ทางออกที่ดีแต่การเผชิญหน้ากับปัญหาที่ตนเองเป็นคนก่อต่างหากจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
เมื่อยอมรับข้อผิดพลาดของตนเองแล้ว ต้องอย่ากลัวที่จะผิดพลาด ในการทำงานไม่จำเป็นที่จะต้องสมบูรณ์แบบ 100% เพราะข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นจงอย่ากลัวที่จะล้มเหลวกับข้อผิดพลาดของตนเอง
การตั้งเป้าหมายการทำงานให้กับตนเองเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับการทำงานได้เป็นอย่างดี ในการตั้งเป้าหมายให้พยายามแบ่งระยะเวลาในการทำงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ เป้าหมายระยะสั้น เป้าหมายระยะกลาง และเป้าหมายระยะยาว เมื่อเราสามารถทำงานระยะสั้นให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ก็จะมีกำลังใจที่จะทำเป้าหมายใหญ่ในระยะกลางและระยะยาวต่อไปได้
การท่องเที่ยวคือยารักษาใจที่ดีที่สุด การได้ออกไปเปลี่ยนบรรยากาศการพักผ่อนไม่ให้จำเจอยู่กับสถานที่เดิมๆ ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับการทำงานของเราได้ นอกจากจะช่วยสร้างบรรยากาศใหม่ให้กับชีวิตแล้ว ยังทำให้เรามุ่งมั่นกับการทำงาน และเฝ้ารอการออกไปท่องเที่ยวในครั้งต่อไป รวมถึงแรงบันดาลใจในการทำงานบ้างครั้งก็ได้มากจากการท่องเที่ยวเช่นกัน
ทั้งนี้การหมดไฟ หรือมีไฟในการทำงานล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับการจัดการของตัวเราเอง หากเราไม่มีความมั่นใจหรือ ไม่มีความสุขกับการทำงาน ลองมองให้เห็นสาเหตุที่แท้จริงของการหมดไฟว่าจริงๆ แล้วเกิดจากอะไร จากนั้นก็ลองแก้ไขด้วยการปรับมุมมองการทำงานของตนเอง เพื่อให้ชีวิตการทำงานมีชีวิตชีวาเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพื่อองค์กรเท่านั้น แต่การมีแรงจูงใจที่ดีในการทำงานย่อมสร้างความสุขให้กับคนที่งานเช่นกัน