เป็นประเด็นที่หลากหลายความคิดเห็น สำหรับกรณีการทำธุรกิจร่วมกันระหว่างสามี ภรรยาหรือคู่รักทั้งหลาย บ้างก็ว่าเป็นเรื่องดี เป็นธุรกิจของครอบครัว บ้างก็ว่าเสี่ยงจะทำให้เกิดการทะเลาะจนอาจถึงขั้นเลิกราเพราะผลประโยชน์มักไม่เข้าใครออกใคร สรุปแล้วการทำธุรกิจร่วมกันระหว่างสามีและภรรยาเป็นเรื่องที่ควรทำหรือไม่ลองมาดูข้อดี ข้อเสียและข้อควรระวังเพื่อประกอบการตัดสินใจกันนะคะ
ข้อดี
หากพูดถึงข้อดีแล้วก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ขึ้นชื่อว่าเป็นสามีภรรยาแล้วย่อมเปรียบเสมือนคนๆเดียวกัน สามารถวางใจได้ทุกเรื่องว่าสิ่งที่อีกฝ่ายทำนั้นย่อมคำนึงถึงผลประโยชน์ของอีกฝ่ายด้วยแล้ว
นอกจากนี้เนื่องจากเป็นธุรกิจของตนเอง ทั้งคู่ย่อมมีความมุ่งมั่น ทุ่มเทมากเป็นพิเศษ มากกว่าที่จะสามารถหาได้จากลูกจ้างหรือหุ้นส่วน และยังมีเวลาอยู่กับกิจการ สามารถพูดคุยปรึกษากันได้ตลอดเวลา ดังนั้นโอกาสที่ธุรกิจจะเติบโตและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วก็มีความเป็นไปได้สูง
อีกหนึ่งข้อดีของการทำธุรกิจร่วมกันคือ ยามเมื่อมีปัญหา ใครจะมาเห็นใจและเข้าอกเข้าใจกันได้ดีไปกว่าคู่รัก เพื่อนหรือหุ้นส่วนอาจจะทอดทิ้งคุณไปอย่างไม่ใยดียามที่ธุรกิจตกต่ำ แต่คนที่รักกันย่อมอยู่เคียงข้างคอยดูแลกันทั้งในยามทุกข์และสุข เมื่อมีกำลังใจที่แสนดีอยู่ข้างๆเสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมักทำให้คนเรามีแรงฮึดกลับมาสู้จนลุกขึ้นได้อีกครั้ง
ข้อเสีย
แน่นอนทุกสิ่งในโลกย่อมต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การทำงานกับคนที่เราสนิทสนมด้วยมากๆ บางครั้งกลับเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเอาปัญหาเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวมาปนกันจนทำให้เกิดความร้าวฉานในความสัมพันธ์ขึ้นมา ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งจากการเอาปัญหาเรื่องงานมากระทบความสัมพันธ์ หรือเกิดจากปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ส่งผลกระทบจนงานเสียหายก็เป็นได้
และด้วยความสนิทสนมนี่เองที่อาจทำให้เกิดอีกหนึ่งปัญหา คือความเกรงใจทำให้พูดหรือให้คำแนะนำกับฝ่ายตรงข้ามไม่ได้อย่างเต็มที่ ไม่สามารถพูดกันได้ตรงไปตรงมาเหมือนอย่างที่ทำกับลูกน้องหรือหุ้นส่วนได้เพราะเป็นห่วงความรู้สึกของอีกฝ่ายมากจนเกินไป ทั้งๆที่บางเรื่องเป็นปัญหาที่กระทบโดยตรงกับธุรกิจ หรือบางครั้งด้วยความสนิทสนมก็อาจทำให้พูดไปแล้วอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมปรับปรุงพัฒนาขึ้นมา หลายๆครั้งจากเรื่องเล็กๆก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้เช่นกัน
สุดท้ายคงหนีไม่พ้นเรื่องการแบ่งผลประโยชน์เมื่อเลิกราการแต่งงานก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งคู่จะสามารถอยู่กันไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง บางครั้งเมื่อความสัมพันธ์เดินมาถึงจุดที่ต้องมีอันเลิกกัน น้อยคนมากที่จะยังสามารถทำธุรกิจร่วมกันต่อไปได้ ผลประโยชน์ที่มีร่วมกันมา จากเดิมที่ต่างฝ่ายต่างมองว่าเป็นของ “เรา” ตอนนี้อาจถึงเวลาเรียกร้องสิทธิของ “ฉัน” กันขึ้นมาอย่างดุเดือด หากไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น อาจกลายเป็นเรื่องปวดหัวหนักๆได้เลยทีเดียว
ข้อควรระวัง
หากพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียแล้วยังลงความเห็นพ้องกันว่าการทำธุรกิจร่วมกันคือทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคู่ของคุณ ก็ควรลงมืออย่างรอบคอบและระมัดระวัง อย่าลืมพิจารณาถึงหัวข้อต่างๆเหล่านี้ด้วยนะคะ
1. ด้านกฎหมาย: ควรจะจดทะเบียนสมรสหรือไม่ ควรจะตั้งเป็นบริษัทหรือจดทะเบียนเป็นร้านค้ารูปแบบใดจึงจะเกิดผลประโยชน์สูงที่สุด
2. ด้านภาษี: ควรจะยื่นภาษีรายได้ร่วมกันหรือแยกกัน ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
3.ด้านบัญชีและการเงิน: ควรมีการบันทึกบัญชีและการเงินอย่างโปร่งใสแม้จะเป็นธุรกิจที่ทำร่วมกับคู่สมรส เมื่อต้องการค้นหาข้อมูลย้อนหลังหรือมีปัญหาใดใดจะได้สามารถอ้างอิงได้จากเอกสารโดยตรง
4.ด้านผลตอบแทน: ผลตอบแทนที่แต่ละคนได้รับควรมีความโปร่งใสเช่นกัน หรือได้รับตามสัดส่วนของหุ้นหรือความสามารถในการทำผลกำไรให้บริษัท
5. ด้านการแบ่งผลประโยชน์: ดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในตอนต้น ในโลกนี้ไม่มีความแน่นอน ดังนั้นตั้งแต่เริ่มสร้างธุรกิจ ควรมีความชัดเจนหรือมีข้อตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรถึงการแบ่งทรัพย์สมบัติ ผลกำไรจากธุรกิจให้ชัดเจน เพื่อลดปัญหาที่อาจตามมาหากมีการเลิกร้างกันเกิดขึ้น
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ