บทบาทของผู้นำรูปแบบต่าง ๆ (Leadership Styles) ที่ผู้เป็นหัวหน้าเลือกนำมาใช้กับลูกน้องในการทำงานนั้น มีความแตกต่างกันในแง่ของการกำหนดทิศทางของการทำงาน การวางแผนการทำงาน รวมถึงการสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้ลูกน้อง ความเหมาะสมกับการนำมาใช้กับประเภทของลูกน้อง และสถานการณ์การทำงานที่แตกต่างกันออกไป ผู้เป็น หัวหน้าที่ดี ควรรู้จักเลือกใช้บทบาทความเป็นผู้นำที่เหมาะสมกับการทำงานแต่ละงาน เคิร์ท เลวิน (ค.ศ. 1939) นักวิชาการชาวเยอรมัน-อเมริกัน ผู้บุกเบิกแนวคิดเกี่ยวกับจิตวิทยาสังคม องค์กร และจิตวิทยาประยุกต์ ได้จำแนกบทบาทของผู้นำสำหรับผู้เป็นหัวหน้าออกเป็นสามรูปแบบ ได้แก่
1. หัวหน้าแบบยึดถืออำนาจ (Authoritative)คือบทบาทที่หัวหน้ามีอำนาจการตัดสินใจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว การใช้บทบาทผู้นำรูปแบบนี้ หัวหน้าจะมอบหมายหน้าที่แบบเฉพาะเจาะจงให้ลูกน้อง แล้วลูกน้องนำไปปฏิบัติตามที่ได้รับมอบหมาย
เมื่อใดจึงจะใช้บทบาทหัวหน้าแบบยึดถืออำนาจผู้เป็นหัวหน้าควรเลือกใช้บทบาทผู้นำรูปแบบนี้ก็ต่อเมื่อตนเองทราบ และเข้าใจดีแล้วว่าในภารกิจการทำงานนี้ ต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง และสามารถชี้แจงหรือ สอนงาน (Coaching) ให้ลูกน้องทราบได้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ใช้ในกรณีที่การทำงานใดงานหนึ่งอาจมีเวลาจำกัดมากและไม่มีเวลามากพอที่จะมานั่งระดมสมองกัน แต่ตัวลูกน้องเองก็มีความกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติตามที่ได้รับมอบหมายอยู่แล้ว สั่งการแล้วทำได้เลย นอกจากนี้หัวหน้าอาจใช้บทบาทผู้นำรูปแบบนี้กับพนักงานใหม่ ที่กำลังเรียนรู้งานและยังไม่ทราบว่าทิศทางการทำงานที่ควรจะเป็น เป็นอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม การใช้ภาวะผู้นำรูปแบบนี้ไม่ใช่การเอาแต่ออกคำสั่ง ใช้อำนาจ วางตัวเหนือลูกน้องมากจนเกินเหตุ และใช้คำพูดที่แสดงความไม่ให้เกียรติลูกน้องตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพของหัวหน้าคนนั้น ซึ่งไม่มีลูกน้องคนไหนเต็มใจอยากจะทำงานด้วยแน่นอน
2. หัวหน้าแบบประชาธิปไตย (Participative)คือบทบาทที่หัวหน้าเปิดโอกาสให้ลูกน้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกระบวนการทำงาน ลูกน้องแต่ละคนสามารถนำเสนอแนวคิดที่ตนคิดว่าเป็นประโยชน์ในการทำงานได้ อย่างไรก็ตาม หัวหน้าจะเป็นผู้ดำเนินการตัดสินใจในขั้นสุดท้ายเสมอ
เมื่อใดจึงจะใช้บทบาทหัวหน้าแบบประชาธิปไตยใน การทำงานเป็นทีม นั้น สมาชิกในทีมทุกคนอาจมีความรู้ความสามารถ จุดอ่อนจุดแข็งต่างกัน ดังนั้นจึงค่อนข้างเป็นไปไม่ได้ว่าสมาชิกเพียงคนใดคนหนึ่งของทีม รวมทั้งตัวหัวหน้าเองจะสามารถทำทุกอย่างให้ดีได้ด้วยตนเองเพียงคนเดียว การใช้ภาวะผู้นำแบบเปิดโอกาสให้ลูกน้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนี้ หัวหน้าอาจเข้าใจดีว่าสิ่งที่เป็นเป้าหมาย และทีมต้องการที่จะบรรลุผลคืออะไร แต่อาจจะไม่ทราบว่า จะทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายนั้น ๆ ได้ จึงต้องอาศัยความรู้ความสามารถของสมาชิกทีมแต่ละคนในการดำเนินพันธกิจที่สมาชิกทุกคนในทีมมีร่วมกัน จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกน้องแต่ละคนได้ใช้ศักยภาพและความเป็นมืออาชีพของตนอย่างเต็มที่ และมีความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของทีมอยู่เสมอ
3. หัวหน้าแบบเสรีนิยม(Delegative)เป็นบทบาทที่เปรียบได้กับการปกครองแบบเสรีนิยม ถ้าจะนิยามบทบาทของหัวหน้ารูปแบบนี้ก็หมายถึงการที่หัวหน้าได้มอบอำนาจในการดำเนินการให้กับลูกน้องอย่างสมบูรณ์แบบ โดยที่ตัวหัวหน้าเองยังคงต้องเป็นผู้รับผิดชอบในผลของการดำเนินการของลูกน้องที่ตนได้มอบหมายอำนาจให้ดำเนินการใด ๆ ไปแล้ว
เมื่อใดจึงจะใช้บทบาทหัวหน้าแบบเสรีนิยมเนื่องจากการมอบหมายอำนาจให้ลูกน้องดำเนินการใด ๆ แทนตนเองนั้น หัวหน้ายังคงต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลของการดำเนินการและไม่สามารถกล่าวโทษลูกน้องได้หากเกิดความผิดพลาด การใช้บทบาทผู้นำรูปแบบนี้จึงไม่ควรใช้แบบไม่ยั้งคิด แต่ต้องใช้อย่างชาญฉลาด การจะมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้ใครนั้นต้องพิจารณาแล้วว่าผู้รับมอบหมายคนนั้นมีความรับผิดชอบ มีความเป็นมืออาชีพ และมีความรู้ความสามารถในงานที่ได้รับมอบหมายดีกว่าตนเอง และอาจรวมถึงผู้ที่เป็นพนักงานอาวุโสที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำงานเฉพาะด้านมากกว่า ข้อดีของการที่หัวหน้าใช้บทบาทผู้นำรูปแบบนี้กับลูกน้องก็คือ ตัวลูกน้องที่ได้รับมอบหมายอำนาจให้ดำเนินการใด ๆ ได้นั้นจะสามารถใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะทางที่ตนมีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ และตัวหัวหน้าเองก็มีเวลามากพอที่จะไปทำภาระกิจอื่น ๆ ที่ตนยังต้องลงมือทำด้วยตนเองและอาจเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าสิ่งที่ได้มอบหมายให้ลูกน้องทำ ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานของทีมงาน
เห็นได้ว่ารูปแบบของบทบาทผู้นำแต่ละรูปแบบของผู้เป็นหัวหน้านั้นมีความเหมาะสมที่จะใช้กับลูกน้องและสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น หัวหน้าที่ดีไม่ควรยึดติดกับบทบาทผู้นำรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมากเกินไป แต่ควรรู้จักปรับใช้ให้เหมาะสมตามสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมของการทำงาน
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ