ส่งออกสินค้าตัวอย่างต้องเสียภาษีหรือไม่

ส่งออกสินค้าตัวอย่างต้องเสียภาษีหรือไม่
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

ได้ยินคำว่า “ภาษี” หลายคนคงอยากจะพากันส่ายหน้าหนี ด้วยความยุ่งยากซับซ้อน ไม่อยากศึกษา หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่เป็นข้ออ้างทางสรรพากรมองว่า “ฟังไม่ขึ้น” ถือเป็นการเลี่ยงภาษี ที่อาจจะทำให้คุณโดนเช็กบิลย้อนหลัง พร้อมค่าปรับมหาศาล อย่างที่เคยมีกรณีศึกษาหลาย ๆ เคสตามที่เป็นข่าว

เชื่อว่าคนทำธุรกิจทั้งหมด ย่อม Concern เรื่องประเด็นภาษีกันอยู่แล้ว เรื่องไหนที่ต้องจ่ายแบบชัดเจนก็จัดการแจ้งไปตามปกติ แต่มันจะมีบางเรื่องบางมุมที่มีความก้ำกึ่ง เป็นเส้นบาง ๆ ว่าเราไม่ได้ทำเพื่อแสวงหารายได้แบบ 100% สิ่งนั้นต้องถูกนำไปคำนวณเป็นภาษีที่ต้องนำจ่ายหรือแจ้งไปยังสรรพากรด้วยไหมนะ

อย่างการส่งออกสินค้าตัวอย่างไปต่างประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าคลางแคลงใจ เพราะสินค้านั้นเป็นเพียงตัวอย่าง ยังไม่ Commit กันในเชิงธุรกิจว่าจะได้รับผลตอบแทนมาเป็นรายได้ สุดท้ายแล้วคู่ค้าอีกฝ่ายอาจจะไม่ถูกใจและเลือกที่จะไม่ทำธุรกิจกับเรา สิ่งที่เราส่งไปเป็นตัวอย่างสินค้านั้นอาจจะไม่มีมูลค่าเคยก็เป็นได้

ส่งออกสินค้าตัวอย่างไปต่างประเทศต้องเสียภาษี?

จริง ๆ แล้วเรื่องการส่งออกสินค้าตัวอย่างไปต่างประเทศ ก็เป็นที่เคสถกเถียงกันเป็นวงกว้างของคนทำธุรกิจ ว่าจำต้องเสียภาษีหรือไม่ ในฐานะเจ้าของกิจการส่วนใหญ่มองว่า การส่งสินค้าตัวอย่างไปนั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการตกลงทำธุรกิจที่ก่อให้เกิดรายได้แบบ 100% ยังมีความเสี่ยงว่าอีกฝ่ายจะปฏิเสธได้ สิ่งที่ถูกไปนั้นอาจจะ Cost ที่สูญเปล่า ซึ่งทางบริษัทต้องรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ขณะที่มุมของสรรพากรนั้น มองว่าการส่งออกสินค้าตัวอย่างไปต่างประเทศนั้น มีทั้ง “จำเป็นต้องเสียภาษี” และ “ไม่จำเป็นต้องเสียภาษี” จะด้วยเหตุใดและเพราะอะไรนั้น JobsDB รวมแนววินิจฉัยกรณีคล้ายกันนี้ในรูปแบบต่าง ๆ มาให้เรียบร้อยแล้ว เผื่อใครที่กำลังไตร่ตรองกับเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ จะได้ไม่โดนเช็กบิลย้อนหลัง

ส่งออกสินค้าตัวอย่างแบบไหน “ต้องเสียภาษี”

ด้วยความที่การส่งออกสินค้าตัวอย่างเป็นเรื่องก้ำกึ่งอย่างที่ว่าไป ดังนั้นแนววินิจฉัยของสรรพากรจึงแตกต่างออกไปตาม “เจตนา” ของการส่งออก อธิบายแบบเข้าใจง่าย หากสินค้าตัวอย่างที่คุณส่งออกไปนั้น สามารถนำมาซึ่งรายได้ในอนาคต ก็เข้าเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี

ยกตัวอย่างแนววินิจฉัยของกรมสรรพากร กรณีบริษัทหนึ่งส่งสินค้าประเภทจิวเวลรี่ไปต่างประเทศผ่านพิธีการศุลกากรโดยระบุว่า เป็นสินค้าประเภท For Show หรือ Consignment เพื่อนำสินค้าไปออกงานแสดงสินค้า เมื่องานแสดงสินค้า เสร็จสิ้นลงก็จะส่งสินค้าดังกล่าวให้กับบริษัทเครือข่ายที่ประเทศอังกฤษ เพื่อเก็บรักษาสินค้าและเสนอขายให้กับลูกค้าในต่างประเทศต่อไป โดยสินค้าดังกล่าวจะไม่ส่งกลับมายังประเทศไทย

กรณีนี้ทางสรรพากรจะถือว่าการส่งสินค้าดังกล่าวไปนั้น ถือเป็นการขายในประเทศไทย และให้ถือราคาสินค้าตามราคาตลาดในวันที่ส่งไป ตามมาตรา 70 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรมิใช่เป็นกรณีที่ส่งไปเป็นตัวอย่างโดยเฉพาะ ตามมาตรา 70 ตรี (1) แห่งประมวลรัษฎากร

บริษัทฯ จึงต้องนำมูลค่าของสินค้าดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากรและการส่งสินค้าออกไปต่างประเทศดังกล่าว ถือเป็นการขายโดยการส่งออก ตามมาตรา 77/1 (8)(ค) และมาตรา 77/1 (14) แห่งประมวลรัษฎากร

นอกจากนี้ยังต้องนำ ยอดส่งออกสินค้าดังกล่าวมาเป็นมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มและมีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ทั้งนี้ ตามมาตรา 79/1 และมาตรา 87 แห่งประมวลรัษฎากร

ส่งออกสินค้าตัวอย่างแบบไหน “ไม่ต้องเสียภาษี”

ยกตัวอย่างกรณีส่งออกสินค้าตัวอย่างที่ต้องเสียภาษีไปแล้ว ทีนี้มาดูเคสของการส่งออกออกสินค้าที่ทางสรรพากรมองว่า ไม่ต้องเสียภาษีกันบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าเกณฑ์การพิจารณายังเป็นเรื่องของเจตนาเหมือนเดิม หากสินค้าของคุณเป็นไปเพื่อแสดงตัวอย่าง ก็ไม่ต้องกังวลอะไร

กรณีบริษัทส่งสินค้าตัวอย่างให้แก่ลูกค้าโดยไม่คิดมูลค่า เพื่อส่งเสริมการขายของบริษัทเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าลูกค้าดังกล่าวจะเป็นลูกค้าในประเทศ หรือต่างประเทศก็ตาม บริษัทไม่ต้องนำมูลค่าของสินค้าที่ส่งไปเป็นตัวอย่าง มาคำนวณรวมกันเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีสิทธินำมูลค่าของสินค้าตัวอย่าง (อ้างอิงตามราคาต้นทุน) ไปคิดรวมกับรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

นอกจากนี้ การส่งสินค้าไปเป็นตัวอย่างให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศ ถือเป็น “การขายโดยการส่งออก” ตามมาตรา 77/1(8) และ (14) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบริษัทได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 ดังนั้น บริษัทต้องนำไปรวมเป็นยอดขายโดยการส่งออกในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย คือถ้าจะโดนภาษีจะอยู่ในกรณีของยอดขายทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องภาษีด้านการส่งออกสินค้าตัวอย่าง คนละรูปแบบกัน

พอเป็นเรื่อง “ภาษี” ที่มาพร้อมกับข้อ “กฎหมาย” อาจจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกันสักหน่อย ค่อนข้างซับซ้อน แต่เป็นเรื่องที่คนทำธุรกิจหลีกหนีไม่ได้ เพราะสรรพากรเขาตรวจสอบคุณได้ทุกช่องทาง ยอมจ่ายให้จบตั้งแต่ตอนนี้ ดีกว่าโดนตามปรับย้อนหลัง อันนั้นเสียหายมากกว่ากันเยอะ

จับหลักง่าย ๆ ดูว่าการส่งออกสินค้าตัวอย่างของคุณ เป็นไปเพื่อสร้างรายได้ไหม หากเป็นไปเพื่อส่งเสริมการขายของบริษัทเพียงอย่างเดียว ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล แนบหลักฐานไปให้ชัดเจนตั้งแต่ต้นทาง ระหว่างทางและปลายทาง หรือถ้าไม่แน่ใจอยากเช็กให้ชัวร์ ก็เข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร https://www.rd.go.th/272.html หรือสายด่วน RD Intelligence Center 1161


ทันทุกเหตการณ์ อัปเดตทุกข่าวสารทุกอาชีพ ทุกธุรกิจได้แล้ววันนี้ ที่ JobsDB แพลตฟอร์มหางานอันดับหนึ่งในไทย หาคนตรงงาน หางานตรงใจ

More from this category: เทรนด์งานยอดฮิตและเงินเดือน

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา