ในวันที่ไม่ได้ไปต่อ ต้องถูกเลิกจ้างจากงานที่ทำ มีหลายเรื่องที่คนทำงานควรรู้ไว้เกี่ยวกับการช่วยเหลือหลังถูกเลิกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิต่าง ๆ เกี่ยวกับเงินชดเชย และแนวทางการประหยัดภาษีที่เราควรทราบ มาดูกันว่าเราควรจัดการเรื่องการเงินเมื่อวันถูกเลิกจ้างมาถึงกันอย่างไรบ้าง
เงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 118
คนทำงานอย่างเรา ๆ มีพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เป็นกฎหมายควบคุมดูแลให้ลูกจ้างได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมจากนายจ้าง ซึ่งกฎหมายมีการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการจ่ายเงินค่าชดเชยสำหรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยมิได้กระทำความผิดตามที่กฎหมายกำหนด โดยต้องมีระยะเวลาการทำงานมาแล้วอย่างน้อย 120 วัน กฎหมายมาตรา 118 นี้คุ้มครองเฉพาะลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเท่านั้น ไม่รวมถึงกรณีที่ลูกจ้างลาออกจากงานเอง ถ้าเป็นกรณีนี้จะไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยแม้ว่าจะทำงานกับนายจ้างเป็นระยะเวลานานเพียงใดก็ตาม
การได้รับเงินชดเชยมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ลูกจ้างทำงานดังนี้
- ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
- ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
- ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
- ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ถึง 10 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน
- ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับเงินเชยเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
สำหรับลูกจ้างบางรายที่ได้รับค่าตอบแทนพิเศษนอกเหนือจากเงินเดือน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำมันรถ และอื่น ๆ ที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างเป็นปกติทุกเดือนโดยไม่ต้องใช้ใบเสร็จประกอบ ค่าตอบแทนพิเศษที่ว่ามานี้จะถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ต้องนำไปคิดรวมกับเงินเดือนเพื่อเป็นฐานในการคำนวณเงินชดเชยด้วยเช่นกัน
รู้ไว้ใช่ว่า ... ภาษีเงินได้กับเงินชดเชย
โดยปกติแล้ว เมื่อเราทำงาน มีเงินเดือนเป็นรายได้ ก็ต้องจ่ายภาษีเงินได้ตามหน้าที่พลเมืองที่ดี แต่ในวันที่ถูกเลิกจ้าง และมีเงินได้ก้อนสุดท้ายจากเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน มาตรา 118 เราจะต้องเสียภาษีสำหรับเงินก้อนนี้อีกหรือไม่ คำตอบก็คือ กฎหมายภาษีอากรได้กำหนดไว้ว่า ลูกจ้างจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินค่าชดเชยที่นายจ้างจ่ายให้ แต่มีเพดานกำหนดคือ ต้องไม่เกินเงินเดือน 300 วันสุดท้าย และจำนวนเงินชดเชยต้องไม่เกิน 300,000 บาท หากเกินกว่าเพดานที่กำหนด ลูกจ้างจะได้รับยกเว้นภาษีแค่ในส่วนที่ไม่เกินตามกฎหมายกำหนดเท่านั้น ส่วนที่เกินต้องนำมาคำนวณเสียภาษีเงินได้ตามปกติต่อไป แต่หากเราเป็นคนทำงานที่มีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป สามารถเลือกแยกยื่นภาษีเงินได้จากเงินชดเชยตามมาตรา 48(5) คือแยกยื่นภาษีเฉพาะเงินได้ประเภทนี้ต่างหาก นอกเหนือไปจากเงินได้ประเภทอื่น
สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน เงินทดแทนจากกองทุนประกันสังคม
คนทำงานทุกคนต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมตามกฎหมายกำหนดกันอยู่แล้ว และในกรณีที่ต้องกลายมาเป็นผู้ว่างงาน กองทุนประกันสังคมนี่แหละที่จะเป็นตัวช่วยคนทำงานในช่วงที่ไม่มีรายได้ สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในกรณีที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน เมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน สิ่งแรกที่ควรทำคือรีบไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานภายใน 30 วัน เพื่อให้มีสิทธิรับเงินทดแทนจากกองทุนประกันสังคมดังนี้
- กรณีถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
- กรณีลาออก ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตรา 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
ข่าวดีก็คือ เงินทดแทนกรณีการว่างงานจากกองทุนประกันสังคมได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีอย่างเงินได้ทั่วไป
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเลือกออมต่อได้ หรือใช้เป็นแผนสำรองเลี้ยงชีพ
คนทำงานที่ได้ทำงานในองค์กรที่มีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถือว่ามีแต้มต่อไปอีกขั้น เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้เป็นตัวช่วยในการออมสำหรับคนทำงานได้เป็นอย่างดี โดยปกติแล้วกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเงินออมในระยะยาว สำหรับเป็นเงินได้หลังเกษียณ แต่สำหรับคนทำงานที่ไม่ได้มีโอกาสทำงานยาวนานจนถึงวันเกษียณ ต้องลาออกจากงาน หรือถูกนายจ้างให้ออกจากงานเสียก่อน ก็มีทางเลือกสำหรับการจัดการกับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ดังนี้
- หากยังพอไหว ให้เลือกคงเงินไว้ในกองทุนฯ แล้วรอจนอายุครบ 55 ปี ถึงเวลาได้ใช้เงินออมจากกองทุนฯ อย่างเต็มที่
- หากโชคดีตกงานไม่นาน ได้งานใหม่หลังจากนั้น ให้โอนเงินที่ออมไว้ไปอยู่กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่
- เลือกย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อสะสมระยะเวลาสมาชิกกองทุนฯ และรอจนอายุครบ 55 ปี ค่อยนำเงินออกจากกองทุนฯ เพื่อจะได้รับการยกเว้นภาษีตามเงื่อนไข คือ มีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี และเป็นสมาชิกกองทุนฯ ไม่น้อยกว่า 5 ปี
- เลือกถอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่จะต้องนำเงินได้จากกองทุนฯ ส่วนที่เป็นเงินสมทบ ผลประโยชน์เงินสะสม และผลประโยชน์เงินสมทบ ไปแสดงรายการเพื่อชำระภาษี สำหรับคนทำงานที่มีอายุงาน 5 ปีขึ้นไป สามารถเลือกแยกยื่นภาษีตามมาตรา 48(5) ได้เช่นเดียวกับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
คนทำงานที่ถูกเลิกจ้างใช่ว่าจะอับจนหนทางไปเสียทุกด้าน ในวิกฤติก็ยังมีโอกาส เรายังมีแนวทางได้รับการช่วยเหลือ และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีต่าง ๆ ไว้เป็นตัวช่วยให้เราก้าวไปข้างหน้าต่อได้ ไม่หมดหวังอย่างแน่นอน ที่สำคัญต้องไม่ลืมให้โอกาสตัวเอง ด้วยการค้นหางานที่ใช่ อัปเดตโปรไฟล์กับ jobsDB รับรองว่างานดี ๆ และตำแหน่งงานที่น่าสนใจอีกมากมาย ยังรอให้คนทำงานได้ลองท้าทายศักยภาพกันอยู่ทุกเมื่อ
แหล่งข้อมูล : sanpakornsarn.com
sso.go.th
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ไขข้อข้องใจสิทธิประกันสังคม กรณีว่างงาน
วางแผนเกษียณกันตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว ไม่ถือว่าเร็วไปอย่างแน่นอน