การฝึกงาน เป็นอีกหนึ่งแต้มต่อที่จะทำให้น้อง ๆ นักศึกษามีประวัติที่น่าสนใจ และดึงดูดความสนใจจาก HR ของบริษัทต่าง ๆ เวลาไปสมัครงานได้ และยิ่งไปกว่านั้น การฝึกงานยังทำให้น้อง ๆ นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่รู้จักความชอบของตัวเอง ในแง่ของอาชีพที่จะทำต่อไปในอนาคต เป็นเหมือนสนามฝึกให้น้อง ๆ ได้ลงไปเรียนรู้ในสายงานที่สนใจ ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงานของจริง และจะยิ่งเป็นประโยชน์มากขึ้นไปอีก หากที่ฝึกงานที่น้อง ๆ ได้เข้าไปฝึกเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง หรือมีระบบการทำงานที่เข้มข้น ซึ่งวิธีการหาที่ฝึกงานในปัจจุบันก็มีอยู่หลายวิธี ส่วนวิธีไหนที่จะทำให้ได้ที่ฝึกงานที่โดนใจ JobsDB ได้รวบรวมมาให้แล้ว
1. การศึกษาข้อมูล
การศึกษาข้อมูลเป็นวิธีเบื้องต้นในการเลือกที่ฝึกงาน ลองหาข้อมูลว่าในสายงานที่น้อง ๆ สนใจมีบริษัทไหนบ้างที่มีชื่อเสียง เพราะยิ่งบริษัทเป็นที่รู้จักมากเท่าไหร่ เวลาที่มีชื่อบริษัทนั้นใน Resume ของน้อง ๆ ก็จะยิ่งมีประโยชน์เท่านั้น ชื่อเสียงในที่นี้อาจหมายถึง เป็นบริษัทชั้นนำ หรือเป็นบริษัทที่ได้ชื่อว่ามีระบบการทำงานดี เข้มข้น และการที่น้องได้เข้าไปฝึกงาน ยังอาจจะเพิ่มโอกาสได้งานในบริษัทเหล่านี้ด้วย เพราะคนในนั้นรู้แล้วว่าน้องมีความสามารถในการทำงาน และคุ้นเคยกับงานมาบ้างแล้ว เพราะบริษัทชั้นนำหลาย ๆ ที่สามารถสมัครเข้าฝึกงานได้ง่ายกว่าการสมัครเข้าทำงานจริง เลยทำให้การฝึกงานถือเป็นใบเบิกทางชั้นดีเลย
2. เตรียมเอกสารให้พร้อม
อย่าลืมว่าการสมัครฝึกงานก็เหมือนกับการสมัครงานแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นน้อง ๆ ควรจะต้องเตรียมเอกสารประกอบการสมัครฝึกงานด้วย เช่น เรซูเม่ ทรานสคริปต์ (ของปีล่าสุด) รูปถ่ายติดบัตรซัก 2-3 รูป และสำเนาบัตรนักศึกษา เอกสารบางอย่างบริษัทอาจจะไม่ได้เรียก แต่ถ้าเราเตรียมเอกสารให้พร้อม อันไหนไม่ต้องใช้ค่อยหยิบออก จะทำให้เราให้เรามีความพร้อมสมัครฝึกงานมากกว่าคนอื่น และช่วยเพิ่มโอกาสให้เราได้ฝึกงานที่บริษัทในฝันมากขึ้นด้วย
3. สอบถามที่คณะ
นอกจากที่น้อง ๆ จะมองหาที่ฝึกงาน บริษัทต่าง ๆ ก็มองหาเด็กฝึกงานเพื่อเข้าไปทำงานที่บริษัทของตัวเองเหมือนกัน ดังนั้นบริษัทหลาย ๆ แห่งจึงนิยมที่จะประชาสัมพันธ์รับนักศึกษาเข้าฝึกงานกับที่คณะ ตามมหาวิทยาลัย เพราะเป็นเหมือนการประชาสัมพันธ์ได้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่สุดแล้ว เช่น บริษัทที่ปรึกษาทางด้านบัญชี ก็มักจะประชาสัมพันธ์หานักศึกษาฝึกงานที่คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี หรือบริษัทก่อสร้าง ก็มักจะไปหานักศึกษาฝึกงานที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น น้อง ๆ อาจจะลองไปถามที่แผนกธุรการของคณะ หรือดูตามประกาศที่แปะไว้ที่บอร์ดคณะ หรือจะดูผ่านช่องทาง Social Media อย่าง Facebook หรือเว็บไซต์ของคณะเองก็ได้ น้อง ๆ อาจจะได้เจอที่ฝึกงานที่ถูกใจเข้าซักที่
4. คุยกับรุ่นพี่
นี่เป็นอีกหนึ่งวิธีคลาสสิคที่นิยมใช้กันมานักต่อนัก เพราะรุ่นพี่ของเราก็เคยผ่านประสบการณ์ในการหาที่ฝึกงานมาก่อน แถมยังผ่านประสบการณ์การฝึกงานมาแล้ว นี่เลยทำให้รุ่นพี่ของน้อง ๆ เป็นแหล่งข้อมูลชั้นยอดในการหาที่ฝึกงานให้โดนใจให้น้อง ๆ ได้
5. เว็บไซต์บริษัท
นอกจากที่ HR จะประชาสัมพันธ์การรับนักศึกษาฝึกงานผ่านคณะต่าง ๆ ตามมหาวิทยาลัยแล้ว HR ก็จะไม่ลืมที่จะประกาศรับนักศึกษาฝึกงานผ่านเว็บไซต์ของบริษัทตัวเองด้วย เพราะเป็นช่องทางแรกและช่องทางที่ง่ายที่สุดในการประชาสัมพันธ์ และยังสะดวกรวดเร็วอีกด้วย นักศึกษาที่สมัครเข้าฝึกงาน จากการเข้ามาดูประกาศรับฝึกงานผ่านเว็บไซต์บริษัท ยังแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่อยากจะสมัครงานบริษัทนี้จริง ๆ ดังนั้น หากน้อง ๆ มีบริษัทในใจที่อยากจะเข้าฝึกงาน ก็ลองเข้าไปดูในเว็บไซต์ของบริษัทนั้น ๆ เลยได้
6. กิจกรรม Job Fair
ในมหาวิทยาลัยมักจะมีกิจกรรม Job Fair จัดขึ้นเสมอ นอกจากที่บริษัทต่าง ๆ จะมาหานักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบเพื่อเข้าไปทำงานจริงแล้ว หลาย ๆ แห่งยังรับนักศึกษาฝึกงานอีกด้วย ดังนั้นถ้าครั้งหน้ามีงาน Job Fair ที่มหาวิทยาลัยอีก ขอให้น้อง ๆ เตรียมเอกสารสมัครฝึกงานให้พร้อม แล้วอย่าลืมเดินเข้าไปสอบถามที่บูธของบริษัทที่น้อง ๆ เล็งไว้ได้เลย ว่ามีเปิดรับนักศึกษาฝึกงานมั้ย ถ้ามีต้องไปสมัครผ่านช่องทางไหน หรือสามารถยื่นสมัครได้ในงานเลย ถ้าใช่ก็จัดการยื่นเอกสารที่เราเตรียมมาแล้วได้เลย บางทีน้อง ๆ อาจจะมีที่ฝึกงานในวันนั้นเลยก็ได้นะ
7. เว็บไซต์หางาน
หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าเว็บไซต์หางานมักจะมีประกาศหาพนักงานที่จะเข้าไปทำงานจริง ๆ เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีบริษัทมากมายที่นิยมหานักศึกษาฝึกงาน หรือโปรโมตโปรแกรมฝึกงานผ่านเว็บไซต์หางานอยู่เสมอ อย่าง JobsDB ก็มีประกาศรับนักศึกษาฝึกงานอยู่มากมายหลายตำแหน่ง ลองเข้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน JobsDB แล้วค้นหาจากประเภทการจ้างงาน โดยเลือกประเภทเป็น "นักศึกษาฝึกงาน" ดู น้อง ๆ จะพบกับตำแหน่งฝึกงานจากบริษัทชั้นนำมากมาย
8. อีเมลขอเข้าฝึกงาน
หลาย ๆ บริษัทอาจจะไม่ได้มีประกาศรับนักศึกษาฝึกงานที่ไหนเลย ก็ไม่ได้หมายความว่าเค้าไม่ต้องการนักศึกษาฝึกงาน น้อง ๆ อาจจะลองส่งอีเมลเข้าไปขอสมัครฝึกงานที่บริษัทโดยตรงก็ได้ พร้อมส่งเอกสารฝึกงานเบื้องต้น หรือ Portfolio (สำหรับสายอาร์ต หรือสายงานที่ต้องการพอร์ต)ของน้อง ๆ เพื่อแสดงผลงานที่เคยทำมา ก็จะเป็นการกระตุ้นต่อมรับนักศึกษาฝึกงานของบริษัทนั้นได้
9. สมัครฝึกงานทุกช่องทาง
การสมัครฝึกงานผ่านทุกช่องทางที่ได้กล่าวมาแล้วย่อมเป็นการเพิ่มโอกาสในการได้ฝึกงานในบริษัทในฝันของน้อง ๆ เพราะไม่มีช่องทางไหนที่การันตรีได้ว่า ถ้าน้อง ๆ สมัครงานผ่านช่องทางนี้จะได้งานแน่ ๆ ดังนั้น เตรียมตัวให้พร้อม เลือกบริษัทที่เราอยากเข้าฝึกงานไว้ 3-4 ที่ แล้วก็ลุยสมัครผ่านทุกช่องทางที่เปิดได้เลย
มาสร้างโปรไฟล์ที่ดีให้กับตัวเองผ่านการฝึกงานกันดีกว่า เพราะนอกจากจะได้โปรไฟล์ไปลงในเรซูเม่แล้ว น้อง ๆ ยังจะได้เรียนรู้การทำงานจริง และได้รู้จักตัวเองว่าพร้อมที่จะทำงานนั้น ๆ เมื่อเรียนจบไปแล้วหรือไม่ มาหาตำแหน่งฝึกงาน หรือ Internship ได้ง่าย ๆ ผ่านแอปพลิเคชั่นหางาน JobsDB แอปหางานที่มีงานทุกตำแหน่ง สำหรับทุกสาขาอาชีพ
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%94%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%9a%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%9a%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%9b%e0%b8%b52021/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%95%e0%b8%ad%e0%b8%9a%e0%b9%82%e0%b8%88%e0%b8%97%e0%b8%a2%e0%b9%8c%e0%b8%8a%e0%b8%b5%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%95%e0%b8%81%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%88%e0%b8%9a/