เมื่อก่อนเราอาจจะมองว่า Flash เป็นเพียงไฟล์กราฟิกธรรมดาตัวหนึ่ง ที่สามารถควบคุมการแสดงผลของภาพเคลื่อนไหวได้ แต่ในขณะนี้ Flash ไม่ใช่เพียงไฟล์กราฟิกธรรมดาแล้ว Flash ได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถมากขึ้นดังนั้นชุดคำสั่งแอ็กชั่นสคริปต์ก็ต้องซับซ้อนขึ้นตามไปด้วย การเขียนแอ็กชั่นสคริปต์จึงเหมือนกับการเขียนโปรแกรมภาษาหนึ่งเลยทีเดียว
จะว่าไปแล้วการเรียนรู้ Flash ไม่ได้มีเพียงการเรียนรู้เพื่อเขียนแอ็กชั่นสคริปต์อย่างเดียวเท่านั้น ยังต้องมีการเรียนรู้เรื่องของการสร้างภาพเคลื่อนไหวเข้ามาอีกด้วย ฉะนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าต้องการเลือกที่จะศึกษาแบบเจาะลึกไปในด้านไหน
แล้วจะเริ่มอย่างไรดี ?
อย่างแรกในการเริ่มศึกษา Flash ก็ต้องเริ่มหัดใช้โปรแกรม Flash ให้คล่อง ศึกษาให้รู้ว่าแต่ละเมนูมีคำสั่งอะไร ที่น่าจะเอื้อประโยชน์ในระหว่างการทำงานได้บ้าง เช่นคำสั่ง Trace Bitmap ที่อยู่ในเมนู Modify เป็นคำสั่งที่ไว้สำหรับแปลงภาพราสเตอร์ (บิตแมป) ให้เป็นเว็กเตอร์ ถ้าเราไม่รู้จักคำสั่งนี้ เราอาจจะต้องไปเสียเวลาดราฟให้เป็นภาพเว็กเตอร์ก็ได้
นอกจากนั้นยังต้องรู้จักเครื่องมือและพาเนลต่างๆ ที่มีอยู่ใน Flash ว่าเครื่องมือแต่ละตัวหรือพาเนลแต่ละอันมีความสามารถอะไรบ้าง และใช้งานได้อย่างไร เวลาในการศึกษาตรงจุดนี้ คาดว่าไม่น่าใช้เวลาเกิน 2 อาทิตย์ (หรือ 5 วันสำหรับคนที่ว่างงาน) ซึ่งในระหว่างที่หัดใช้โปรแกรมอยู่นั้น ควรจะหางานง่าย ๆ มาลองทำเช่น วาดรูปพื้น ๆ หรือลองวาดภาพตามแบบไปด้วย จะช่วยให้เราสามารถศึกษาการใช้งานได้เร็วขึ้น (ดีกว่าที่จะมานั่งวาดรูปสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมเล่น)
เมื่อเริ่มใช้โปรแกรมคล่องแล้ว ต่อไปก็เริ่มหัดใช้งานพาเนล Timeline ให้คล่องมากขึ้น (เพราะเราต้องอาศัยพาเนล Timeline ช่วยในการทำงานตลอดเวลา) โดยจะต้องศึกษาเรื่องของเลเยอร์ว่า เลเยอร์มีทั้งหมดกี่ชนิด จะใช้งานได้อย่างไร และแต่ละชนิดเอาไปทำอะไรเล่นได้บ้าง ข้อหลังนี่สำคัญมาก รู้ว่าใช้ยังไง แต่เอาไปประยุกต์ใช้
ไม่เป็น ก็ไม่มีประโยชน์
นอกเหนือจากเรื่องเลเยอร์ ควรศึกษาเรื่องของเฟรมให้ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชนิดของเฟรม (Frame กับ KeyFrame ต่างกันอย่างไร) ความสัมพันธ์ของเฟรมแต่ละชนิด การแสดงผลในแต่ละเฟรม อัตราการแสดงผลของเฟรม (FrameRate) และรวมไปถึงเรื่อง Scene ด้วย อย่าลืมศึกษาเรื่องการสร้างภาพเคลื่อนไหวด้วย ว่าสามารถสร้างได้กี่วิธี แต่ละวิธีมีข้อดี-ข้อเสีย และมีวิธีการสร้างอย่างไร
ถ้าอยากเป็น Flash Programmer ก็ต้องศึกษาการสร้างภาพเคลื่อนไหวไว้ด้วย เพราะในบางทีการสร้างภาพเคลื่อนไหวเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจจะช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ของแอ็กชั่นสคริปต์ได้ แถมในบางครั้งอาจจะช่วยลดความยาก ในการเขียนแอ็กชั่นสคริปต์อีกด้วย
เหลืออีกตัวหนึ่งที่ต้องศึกษาเหมือนกัน นั่นก็คือ ซิมโบล (Symbol) ซิมโบลนี่สำคัญมากในการสร้าง Flash เพราะมันจะช่วยให้เราสามารถนำวัตถุมาใช้ซ้ำเยอะ ๆ โดยที่ขนาดไฟล์ไม่เพิ่มขึ้น พยายามศึกษาเรื่องราวของซิมโบลให้เยอะ ๆ ประมาณว่าซิมโบลมีกี่ชนิด แต่ละชนิดทำอะไรได้บ้าง มีข้อดีหรือข้อจำกัดอะไรบ้าง และที่สำคัญ จะต้องรู้ว่าควรจะใช้ ซิมโบลชนิดอะไรในกรณีไหนด้วย
สิ่งที่ได้แนะนำให้ศึกษาไปแล้วนั้น เป็นเพียงการปูพื้นฐานเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้ง Flash Animator และ Flash Programmer ต้องรู้ด้วย รู้พื้นฐานแล้วหากใครต้องการต่อยอดไปทางด้านไหน ก็เลือกศึกษาเจาะลึกได้ตามความสนใจของแต่ละคนต่อไป
ที่มา : http://www.thaiflashdev.com