คนที่ไม่ใช่มุสลิมอาจเกิดความสงสัยเกี่ยวกับอาหารของมุสลิมว่าคืออะไร เพราะบางครั้งได้ยินคนเรียกว่าอาหารมุสลิมบ้าง อาหารฮาลาลบ้าง อาหารอิสลามบ้าง อาหารทั้ง 3 ชื่อนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร วันนี้เราจะมาไขปัญหาให้ความกระจ่างแก่ผู้อ่านกันนะคะ
ก่อนอื่นต้องบอกให้ทราบว่า คำว่า“อาหารอิสลาม”นั้นเขาไม่เรียกกัน เพราะอิสลามเป็นชื่อศาสนา ต้องเรียกว่า “อาหารมุสลิม” จึงจะถูกต้อง
ส่วน“อาหารมุสลิม”คนที่จะปรุงอาหารประเภทนี้ต้องเป็นคนมุสลิมเท่านั้น ที่สำคัญต้องปรุงให้ถูกต้องตามหลักบัญญัติอิสลาม ไม่ขัดต่อบัญญัติอิสลาม และยังต้องมีวิธีการปรุงที่สะอาด รวมทั้งส่วนผสมก็ต้องสะอาด ไม่เน่า หรือไม่ส่อว่าอาจมีเชื้อโรค เพราะหลักการอิสลามอนุมัติให้มุสลิมบริโภคสิ่งที่ "อนุมัติ และสภาพดีมีคุณค่า" เช่น เนื้อสัตว์ต้องได้รับการเชือดโดยมุสลิม มีการกล่าวพระนามของพระผู้เป็นเจ้าขณะเชือด มีวิธีการเชือดถูกต้องตามหลักการอิสลาม คือ เชือดเส้นเลือดใหญ่ที่คอให้สัตว์นั้นตายทันทีโดยไม่ทรมาน
นอกจากนั้น อาหารมุสลิมต้องไม่ขัดต่อบัญญัติอิสลาม คือ ไม่มีส่วนผสมที่ต้องห้าม เช่น เนื้อหมู น้ำมันหมู หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากหมู รวมถึงเลือดสัตว์ไม่ว่าชนิดใด อาหารที่มาจากพืชที่มีพิษและเป็นอันตรายทุกชนิด และอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือมีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายและ เป็นพิษ เป็นต้น
มาถึงคำว่า"อาหารฮาลาล"หมายถึง อาหารที่ได้ผ่านกรรมวิธีในการทำ ผสม ปรุง ประกอบ หรือแปรสภาพ ตามบัญญัติอิสลามที่กล่าวมาโดยสังเขปข้างต้นทุกประการ และต้องได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ออก เครื่องหมายรับรอง หรือออกหนังสือรับรองตามกฎหมาย เพื่อเป็นการรับประกันว่า ชาวมุสลิมโดยทั่วไปสามารถบริโภคอาหาร หรืออุปโภคสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ได้โดยสนิทใจ ซึ่งใครจะเป็นผู้ผลิตหรือปรุง "อาหารฮาลาล" ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นมุสลิม
ทุกวันนี้ชาวมุสลิมกระจายอยู่ทั่วโลกประมาณ 1,500 ล้านคน รวมตัวเป็นองค์การการประชุมอิสลาม (Organization of the Islamic Conference : OIC) มีประเทศสมาชิก 55 ประเทศ คนกลุ่มนี้บริโภคอาหารมากกว่าปีละ 3 ล้านล้านบาท และจะกินเฉพาะอาหาร "ฮาลาล" (HALAL) เท่านั้น ทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับการผลิตและให้มาตรฐานอาหารฮาลาลในระดับสากล ผู้ที่ประกอบธุรกิจร้านอาหารสำหรับมุสลิมจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง ปฏิบัติให้ถูกหลักบัญญัติอิสลามอย่างเคร่งครัด