อุปกรณ์ไอที ที่มาแรงในปีกระต่าย

อุปกรณ์ไอที ที่มาแรงในปีกระต่าย
Jobsdb ทีมเนื้อหาอัปเดตเมื่อ 07 July, 2023
Share

คงไม่มีใครค้านถ้าหากจะบอกว่า สินค้าไอทีของ ปีที่ผ่านมาคงไม่มีอะไรมาแรงเท่ากับ "แบล็กเบอร์รี่ ไอโฟน ไอแพด"รวมถึงเครือข่ายโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ แล้วจะเหลืออะไรมาให้คอไอทีได้อัพเดตกันในปี 2554

ประสิทธิ์ วรฉัตราวณิช รองผู้จัดการทั่วไปและผู้อำนวยการฝ่ายนิวมีเดีย บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) มองภาพปี 2554 ว่าถือเป็นช่วงรอยต่อของวงการไอที เนื่องจากผลิตภัณฑ์ใหม่ทยอยออกสู่ตลาดในปี 2553 เกือบหมดแล้ว แต่สำหรับกูรูไอทีก็ยังเห็น 8 เทรนด์ไอทีที่จะเป็นกระแสแรงในปีกระต่ายนี้

สมาร์ทโฟน+แท็บเล็ตสู้พีซี

เทรนด์อุปกรณ์ไอที สารพัดประโยชน์ของโทรศัพท์มือถือ ทั้งโทรคุย แชท ท่องเน็ต เล่นเกมหรือเป็นแผนที่นำทาง ผนวกกับแท็บเล็ตที่เพิ่มความสามารถในการใช้งานเอกสารอย่างสะดวกสบายตา ส่งผลให้คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะแทบหมดความหมาย แต่ที่ยังอยู่ได้เนื่องจากความจุของเมมโมรี่และความเร็วของระบบประมวลผล แต่สมาร์ทโฟนปัจจุบันก็เริ่มมีการประมวลผลแบบคู่ (ดูอัล-คอร์) และในไม่ช้าสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่รวมถึงไอแพดและแท็บเล็ตต่าง ๆ จะเก็บข้อมูลได้ไม่น้อยหน้าพีซี

คาดว่าในปี 2554 ยอดจำหน่ายแท็บเล็ตจะมากถึง 54.7 ล้านเครื่องทั่วโลก ขณะที่ยอดขายโน๊ตบุ๊กจะหายไป 19.1 ล้านเครื่อง เพราะถูกแทนที่ด้วยแท็บเล็ต ขณะที่เน็ตบุ๊กจะดิ้นหนีด้วยการผูกตัวเองเข้ากับเครือข่ายก้อนเมฆหรือ คลาว คอมพิวติ้ง ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น เร็วขึ้น เก็บข้อมูลได้มากขึ้น เพราะทุกอย่างไม่ได้เก็บไว้ในตัวเครื่อง แต่ถูกเก็บไว้บนเครือข่าย และที่สำคัญยังปลอดภัยขึ้นอีกด้วย

เทรนด์ไอทีในปีนี้จะเกิดการสลับคู่เทคโนโลยี ปกติชิพอินเทลจะจับคู่กับระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ แต่การเกิดขึ้นของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และชิพอาร์ม (ARM) ซึ่งมีข้อดีมากมายที่สามารถลบช่องโหว่ของแพ็กเกจคู่เจ้าเดิม จนเกิดการนอกใจและจับสลับคู่กันไปมา ทั้งชิพอินเทลที่รองรับการใช้งานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และแว่วข่าวว่า ไมโครซอฟท์จะเปิดตัววินโดว์สที่รองรับชิพอาร์ม งานนี้ต้องรอดูว่า คู่ไหนเคมีจะเข้ากันได้ดีและถูกใจผู้ใช้มากที่สุด

สื่อลูกผสม

การปรับตัวของสื่อสิ่งพิมพ์จะให้ภาพที่ชัดขึ้น โดยผสมผสานระหว่างของเดิมกับความไฮเทค เกิดเป็นสื่อผสมระหว่างหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัลแมกกาซีน และสื่อสิ่งพิมพ์ดั้งเดิม กรณีที่เกิดขึ้นรายแรกคือ นิตยสารมาร์ส ที่เปิดตัวเป็นรายแรกสำหรับไอแพด หรือจะเป็น ห้องสมุดดิจิทัลของทรู ซึ่งอี-บุ๊คจะมีส่วนแบ่งในตลาดสิ่งพิมพ์ปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 15-20% จากการเติบโตของไอแพดและแท็บเล็ต ยิ่งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเป็นที่นิยม แอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ก็เป็นที่ต้องการมากขึ้น บรรดานักพัฒนาแอพพลิเคชั่นก็สรรหา พัฒนาแอพมาตอบสนองความต้องการ ในขณะเดียวกันแอพพลิเคชั่นก็กลายเป็นเค้กที่บรรดาแฮ็กเกอร์เลือกเป็นช่องทาง ใหม่ ใส่ไวรัสลงไปในแอพ หรือแม้กระทั่งวอลล์เปเปอร์ที่แจกให้โหลดฟรี เพียงแค่คลิกติดตั้ง ก็เท่ากับรับเอาไวรัสเข้าไปในสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของตัวเอง

สื่อลูกผสมยังรวมถึงการผสมผสานระหว่างโทรทัศน์กับอินเทอร์เน็ต โทรทัศน์จะไม่ใช้แค่ดูอย่างเดียว แต่กลายเป็นทีวีอัจฉริยะ เช่น หากกำลังดูละครเรื่องโปรด แต่อยากรู้จักดารานำก็สามารถกดหยุด และเข้ากูเกิลเสิร์ชหาข้อมูลดาราคนนั้น ๆ บนหน้าจอทีวีได้เลย หรือหากเป็นทีวี 3 มิติ ก็ไม่จำเป็นต้องมองผ่านแว่น 3 มิติดังเดิม และยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบเกมบนก้อนเมฆ เล่นเกมออนไลน์หรือเกมสุดฮิต โดยไม่ต้องดาวน์โหลดมาติดตั้ง เพียงแค่เชื่อมต่อผ่านกล่องสัญญาณ และดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลอีกแห่งมาเล่นได้เลย ไม่ต่างจากระบบปฏิบัติการบนก้อนเมฆ

พายุเครือข่ายสังคมออนไลน์

เฟซบุ๊กยังฮอตสุด ๆ ตลอดปี 2553 และในปี 2554 กระแสก็ยังคงอยู่และกลายเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย อาทิ ความเชื่อมั่น จากเดิมที่ผู้บริโภคเสาะหาข้อมูลผ่านเครื่องมือสืบค้น ก็หันมาโพสต์ถามลงบนเฟซบุ๊ก และเพื่อนๆ ก็จะมาตอบ แน่นอนว่า เพื่อนต้องน่าเชื่อถือมากกว่า

อี-คอมเมิร์ซก็มีหนาว เมื่อแนวโน้มของโซเชียลคอมเมิร์ช หรือการซื้อขายผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กกำลังมา เริ่มมีการขายของบนหน้าเฟซบุ๊กอย่างแพร่หลาย และยังเพิ่มในแง่ของการซื้อเป็นกลุ่ม โดยทีในเชิงส่วนลด ยิ่งซื้อมากก็ยิ่งราคาถูก ทำให้เกิดการซื้อรวมกันหลาย ๆ คน นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังเตรียมลบภาพของความไร้สาระที่มีแต่เกม ด้วยการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่จะผนวกฟังก์ชันของการทำงานเข้าไป โดยจะเพิ่มให้ผู้ใช้สามารถส่งไฟล์เอกสารและเปิดอ่านผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊กได้

กระต่ายไอที ยังมีอีกหลายมุมที่ต้องรอดูกันต่อไป

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

More from this category: เรื่องเล่าธุรกิจ

เรียกดูคำค้นหาที่ได้รับความนิยม

ทราบหรือไม่ว่าผู้สมัครค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรใน Jobsdb? สำรวจคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่เสมอ

สมัครรับคำแนะนำด้านอาชีพ

รับคำปรึกษาด้านอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญส่งตรงถึงอินบ็อกซ์ของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หากท่านมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ท่านได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อยินยอมให้ Jobsdb และบริษัทในเครือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา