อาชีพ โปรแกรมเมอร์ หรือที่หลายคนอาจจะเรียกว่า “ดีเวลลอปเปอร์” คำฮิตประจำยุคนี้ เป็นอาชีพที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกันมาก เพราะด้วยการมาของสังคม Digital ภาพโลกสุดแสนทันสมัย การทำงานแบบ Silicon Valley ที่ดูเป็นชีวิตมนุษย์ออฟฟิศที่ไม่มีแบบแผน ออฟฟิศที่ทำงานก็ล้ำสมัย มีบริการอาหารกลางวันฟรีสำหรับพนักงาน จะแต่งตัวไปทำงานอย่างไรก็ได้ มีเอนเตอร์เทนเมนท์หลากหลายไว้คอยดูแลพนักงานเวลาเครียด เหล่านี้ล้วนแต่เป็นภาพสวยหรูของชีวิตโปรแกรมเมอร์ที่เรามักเจอผ่านทางหนังหรือซีรีย์เรื่องดัง แต่ความจริงแล้วทุกอาชีพย่อมมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป ไม่พ้นแม้แต่ชีวิตโปรแกรมเมอร์ที่ดูสนุกสุดเหวี่ยง แต่ความจริงแล้วก็มี อุปสรรคของคนทำงานโปรแกรมเมอร์ ที่ต้องให้ความสำคัญด้วยเหมือนกัน
สำหรับโปรแกรมเมอร์แล้ว ความใฝ่รู้ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนทุกวัน ภาษาที่ใช้เขียน code วันนี้ ในอีก 1 ปีอาจจะไม่นิยมแล้ว เพราะคนไปใช้ code ใหม่ที่ง่ายและรวดเร็วกว่า เรียกได้ว่านี่เป็น อุปสรรคของคนทำงานโปรแกรมเมอร์ ที่คนทำอาชีพนี้ต้องเจอไปตลอดชีวิต จนอาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานและอาชีพเลย
ดังนั้นถ้าคิดจะเป็นโปรแกรมเมอร์แล้วล่ะก็ แนะนำให้ปรับ mindset ของตัวเองให้ดี คือ เปิดใจพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา คอยเติมความรู้ อัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับการ coding หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ อยู่เสมอ ผลลัพธ์ที่ได้คือนอกจากการเป็นโปรแกรมเมอร์ที่เก่งขึ้นแล้ว ยังจะทำให้คุณมีความสุขกับการทำอาชีพนี้อีกด้วย
เพราะงานของโปรแกรมเมอร์เป็นงานที่จับต้องได้ยาก จะเห็นอีกทีก็เห็นเป็นผลลัพธ์แล้ว เช่น การเขียน application ขึ้นมาสักแอป ลูกค้าจะไม่เห็นเลยว่าคุณทำงานตรากตรำอย่างไรบ้าง ยังมีลูกค้าหลายคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานทางด้าน technical แล้วมีความคิดว่าการ coding ก็เหมือนกับการใส่สูตรใน excel เพียงเท่านั้น นั่นจึงทำให้หลาย ๆ ครั้ง ลูกค้านึกอยากแก้งานอย่างกระทันหัน และต้องการให้งานที่สั่งแก้เสร็จอย่างรวดเร็ว ทั้ง ๆ ที่การเขียนโปรแกรมก็ต้องมีการวางพื้นฐาน และอาศัยการทำงานหนัก รวมถึงการแก้ปัญหา หรือแก้ “bug” ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
ทางแก้ก็คือ ควรสื่อสารกันให้มากขึ้น เริ่มจากการอธิบายให้เข้าใจตรงกันตั้งแต่ต้น เช่น application นี้มีการวางพื้นฐานไว้อย่างไร ถ้าออก feature นี้ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ถึงจะทำได้สำเร็จอย่างมีคุณภาพ พยายามสร้างข้อตกลงและบอกข้อจำกัดอย่างชัดเจนกับลูกค้า เพื่อการเห็นภาพที่ตรงกัน
หนึ่งในเรื่องน่าปวดหัวที่โปรแกรมเมอร์ทุกคนต้องเคยพบเจอก็คือ “bug” หรือ จุดบกพร่องของโปรแกรมที่คุณเขียนขึ้นมา เพราะเหล่าโปรแกรมเมอร์จะรู้กันดีว่า ไม่มีโปรแกรมไหนที่ไม่มี bug จึงทำให้หลายครั้งที่โปรแกรมเมอร์จำเป็นต้องเจอกับภาวะที่โปรแกรมหยุดทำงาน เพียงเพราะคุณ coding หรือใส่เครื่องหมายผิดไปตัวเดียวเท่านั้น และหลาย ๆ ครั้ง คนที่เจอ bug ก่อนโปรแกรมเมอร์ก็มักจะเป็นลูกค้า ทำให้คุณจะได้รับแรงกดดันที่ว่า “ทำไมโปรแกรมมีปัญหา” “ทำไมตรงนี้ error” ซึ่งเรื่องแบบนี้มักเกิดขึ้นบ่อยเสียด้วย และอาจสร้างความหงุดหงิดให้กับเหล่าโปรแกรมเมอร์ได้
ทางที่ดีคุณควรเตรียมพร้อมรับความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ทำใจให้เป็นกลาง คิดเสียว่า ไม่ว่าอย่างไรทุกโปรแกรมก็ต้องมี bug อยู่แล้ว เริ่มจากการหา bug ด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด หรือถ้าลูกค้าเจอ bug ก่อนเราไปเสียแล้ว ก็พยายามแก้ไขให้เร็วที่สุด เสริมด้วยการหมั่นเรียนรู้ความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในการเขียนโปรแกรมและแก้ bug ต่าง ๆ ได้ดีกว่าเดิม
ยิ่งโปรแกรมถูกพัฒนาไปมากขึ้นเท่าไหร่ ปัญหาที่โปรแกรมเมอร์จะต้องเจอก็จะยากขึ้นไปเท่านั้น หลาย ๆ ครั้งปัญหาแบบเดิม อาจจะมีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ต้องอาศัยความรู้มาแก้มากกว่าเดิม ปัญหานี้มีสาเหตุมาจากการความซับซ้อนของความรู้ที่เราใช้เขียนโปรแกรมด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องเขียนโปรแกรมให้มันง่าย ๆ ตั้งแต่แรก เพราะโปรแกรมจะต้องตอบโจทย์การใช้งานตามที่ลูกค้าต้องการให้มากที่สุด ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้ถูกพัฒนาให้ความซับซ้อนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ ที่อยากให้โปรแกรมฉลาด ดี ช่วยทุ่นแรงในการทำงาน และสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างที่ต้องการมากที่สุด ดังนั้นคำตอบสำเร็จรูป เป็นสิ่งที่โปรแกรมเมอร์จะไม่สามารถใช้ได้อีกแล้วเมื่อโปรแกรมถูกพัฒนาไปเรื่อย ๆ
สิ่งที่จะช่วยแก้อุปสรรคข้อนี้ได้ก็คือ การตั้งคำถามที่ดี เพื่อให้สามารถเอาไปค้นหา และเจอกับคำตอบที่จะสามารถเอามาประกอบ และปรับใช้ในการแก้ปัญหาของโปรแกรมที่เราพัฒนาอยู่ได้
สำหรับโปรแกรมเมอร์ที่เป็นพนักงานประจำของบริษัท software หรือ application ที่มีการใช้งานตลอดเวลา 24 ชั่วโมง อาจต้องพบเจอกับการทำงานที่ไม่เป็นเวลาบ้าง โดยหลาย ๆ บริษัทใช้วิธีแบ่งเวรให้โปรแกรมเมอร์แต่ละคนมีวันที่จะต้องคอย stand by ตลอด 24 ชั่วโมง เผื่อว่าโปรแกรมหรือ application มีปัญหาจะได้สามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ซึ่งหลายครั้งที่ปัญหาอาจจะเกิดขึ้นกลางดึก แล้วถ้าปัญหานั้นแก้ไขยาก หรือเราแก้ไขไม่ได้ หรือแก้ไปแล้วอาจกระทบกับโปรแกรมหลักจนทำให้เราจำเป็นต้องปลุกคนทั้งทีมขึ้นมาช่วยเราแก้ปัญหาทั้งระบบ นั่นอาจยิ่งทำให้เสียสุขภาพจิตไปด้วยได้ง่าย ๆ บางบริษัทอาจมีโปรเจกต์เร่งด่วนที่ต้องการให้พนักงานทำงานหามรุ่งหามค่ำ จนอาจทำให้โปรแกรมเมอร์แต่ละคนเสียสุขภาพได้
ทางแก้คือ เราควรหมั่นดูแลร่างกายเราให้ดีอยู่เสมอ สำหรับเรื่องการทำงานล่วงเวลา เป็นเรื่องที่ควรสื่อสารกับบริษัทให้เข้าใจ เพื่อให้มีการจัดสรรเวลาที่พอดีสำหรับคนทำงาน และในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่กระทบต่อการดำเนินงานธุรกิจของบริษัทด้วย เพื่อความพึงพอใจของทุกคนทุกฝ่าย
ไม่ว่าคุณจะเป็นโปรแกรมเมอร์ที่กำลังเจอกับอุปสรรคเหล่านี้อยู่ หรือเป็นนักศึกษาสาย IT ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สายงานนี้ หรือใครก็ตามที่กำลังสนใจอยากทำอาชีพโปรแกรมเมอร์ หรือเป็นผู้ประกอบการที่อยากเข้าใจหัวอกของโปรแกรมเมอร์มากขึ้น หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน JobsDB ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านพ้นอุปสรรคในการทำงานไปได้ด้วยดี
ถ้าคุณกำลังมองหางานสาย IT ไม่ว่าจะเป็น Programmer Developer หรือ Project Manager เข้ามาค้นหาตำแหน่งงานที่คุณต้องการได้ที่แอปพลิเคชั่น JobsDB แอปหางานยุคใหม่ ที่จะทำให้คุณได้เจอกับตำแหน่งงานที่ใช่ในบริษัทในฝัน
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b9%82%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%a1%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%a5%e0%b9%87%e0%b8%94%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%9a%e0%b8%b3%e0%b8%a3%e0%b8%b8%e0%b8%87%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%95%e0%b8%b2/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%97%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%ad%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b8%9b%e0%b8%b5-2015/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b8%88%e0%b8%9a%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%aa%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%a8%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3/