หลายคนอาจมีคำถามว่า “ระหว่าง เงินเดือน กับตำแหน่งงานเราควรให้น้ำหนักกับสิ่งไหนมากกว่ากัน” คนที่มองด้านปฏิบัติมากกว่าก็อาจจะพอใจกับการได้รับเงินเดือนที่มั่นคงแน่นอน ที่พอกินพอใช้ในแต่ละเดือน แต่ถ้าถามคนที่มีความทะเยอทะยานในหน้าที่การงานสูงก็อาจได้รับคำตอบว่าตำแหน่งที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ มีความสำคัญกว่าเพราะตำแหน่งที่ได้จะสร้างโอกาสให้เขาเติบโตในสายงานได้มากขึ้น
หากคุณมีคำถามนี้ในใจตอนที่คุณทำงานมาจนถึงระดับที่มีตำแหน่งสูงในระดับหนึ่งแล้ว เช่น เป็นหัวหน้าแผนก ผู้อำนวยการ หรือผู้จัดการ ตำแหน่งสูง ๆ เหล่านี้มักมาพร้อมกับเงินเดือนที่สูงตามจากความอาวุโสและประสบการณ์ในการทำงานที่สั่งสมมา คุณอาจลำบากใจไม่ใช่น้อยที่จะตอบว่าระหว่างเงินเดือนกับตำแหน่งอะไรสำคัญกับคุณมากกว่ากัน
นั่นหมายความว่า การพิจารณาขนาดและประวัติความเป็นมาของบริษัทที่คุณทำงานอยู่ด้วยก็เป็นสิ่งสำคัญในการตอบคำถามนี้ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณทำงานในบริษัทสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ที่มีแนวโน้มที่จะยกเลิกชื่อเรียกตำแหน่งสูง ๆ ที่ดูเป็นทางการออกไป เช่น ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงฝ่ายเทคนิค ( Chief Technology Officer หรือ CTO) หรือ ตำแหน่งผู้บริหารฝ่ายการตลาด ( Chief Marketing Officer หรือ CMO) และใส่ชื่อตำแหน่งที่ฟังดูฮิปและมีสีสันมากขึ้นมาแทน เช่น “ผู้อำนวยการด้านเงินบาทและสตางค์” หรือ “พ่อมดแห่งโลกโซเชียลมีเดีย” เป็นต้น เพื่อความเหมาะสมให้เข้ากับยุคสมัยของพนักงานรุ่นมิลเลนเนียล การเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็นเรื่องที่ทำได้ตราบใดที่กิจการยังคงทำกำไรและดำเนินไปอย่างดี
ถ้าพูดถึงบริษัทอินเทรนด์ตอนนี้อย่างบริษัทสตาร์ทอัพที่เต็มไปด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ ที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลานั้น แม้ว่าจะมีความน่าตื่นเต้นและท้าทายในการดำเนินงาน แต่ก็มีแนวโน้มที่จะล้มเหลวภายในเวลาสองสามปีแรกหากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีและเหมาะสม ดังนั้นการพิจารณาเรื่องเงินเดือน ตำแหน่งและความมั่นคงในการทำงานกับบริษัทสตาร์ทอัพที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน จึงต้องอาศัยข้อมูลวงในจากพนักงานปัจจุบันและพนักงานที่เคยทำงานในบริษัทเหล่านี้มาใช้ประกอบการตัดสินใจของคุณ
นอกเหนือจากกรณีบริษัทสตาร์ทอัพ หากคุณเป็นมนุษย์เงินเดือน เป็นพนักงานออฟฟิศที่กำลังมีคำถามนี้อยู่ในใจ วันนี้ jobsDB ได้รวบรวม 5 ปัจจัยที่คุณสามารถนำมาประกอบการตัดสินใจว่า ระหว่างเงินเดือนกับตำแหน่ง คุณควรให้น้ำหนักกับอะไรมากกว่ากันมาฝากค่ะ
1. การจัดลำดับความสำคัญ
ก่อนที่คุณจะทำสิ่งใด เราอยากให้คุณจัดลำดับความสำคัญในชีวิตของคุณให้ชัดเจน หากคุณได้รับการเสนองานที่มีชื่อตำแหน่งหรูหรา แต่ให้เงินเดือนน้อยกว่างานอีกงานที่ไม่ได้มาพร้อมตำแหน่ง และคุณกำลังมีสถานภาพทางการเงินที่ไม่สู้จะดีนัก คุณคงตัดสินใจได้ไม่ยาก แต่ในทางตรงกันข้ามหากคุณมีสถานภาพทางการเงินที่ดีและสามารถรับงานที่เงินเดือนเริ่มต้นน้อยกว่า แต่มีโอกาสเติบโตในสายงาน และได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งได้มากกว่าอีกงานหนึ่งที่คุณได้รับข้อเสนอมา การเลือกงานที่ให้โอกาสเติบโตมากกว่าอาจเป็นตัวเลือกที่คุณควรเลือกในกรณีนี้
2. ค้นหาแรงจูงใจ
สมมติว่าคุณไม่ได้ตกอยู่ในสภาวะคับขันทางการเงินและไม่ต้องการงานที่ได้เงินเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษอย่างมากและรวดเร็ว คำถามต่อไปที่คุณควรถามตัวเองคือ “อะไรที่กระตุ้นแรงจูงใจในการทำงานของคุณให้มากขึ้น” เราทุกคนต่างขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจที่ต่างกัน การตระหนักรู้ว่าอะไรคือแรงจูงใจที่สำคัญของคุณจะทำให้คุณมีความกระตือรือร้นและทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ
ลองนั่งทบทวนถึงสิ่งที่จูงใจให้คุณทำงานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะการเห็นจำนวนเงินในธนาคารที่มากขึ้น หรือเพราะคุณอยากมีความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นหากได้ตำแหน่งที่สูงขึ้น อย่าเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามธรรมเนียมหรือตามกรอบที่สังคมกำหนด แต่ควรเลือกสิ่งที่ใช่สำหรับตัวคุณมากที่สุด
3. มองภาพรวมให้ใหญ่ขึ้น
ถามตัวเองว่าคุณมองตัวเองในอนาคตอย่างไร? ในอีกห้าปีคุณยังเห็นตัวเองทำงานอยู่ที่เดิมหรือเปล่า? หรือเห็นตัวเองเติบโตในตำแหน่งผู้บริหาร? หรือในอนาคตข้างหน้าคุณอาจเห็นตัวเองมีกิจการเป็นของตัวเอง?
ไม่ว่าคุณจะเห็นตัวเองในอนาคตเป็นอย่างไร คุณควรวางเป้าหมายในระยะยาวให้สอดคล้องกับภาพที่คุณจะเห็นตัวเองในอีกห้าปีข้างหน้า เพื่อคุณจะได้มีแนวทางที่ชัดเจนในการทำงานและดำรงชีวิตให้ไปถึงยังเป้าหมายที่คุณต้องการจะเป็นนั้น
4. เชื่อในสัญชาตญาณ
ถึงแม้ว่าคุณอาจกำลังลำบากใจที่จะเลือกระหว่างเงินเดือนหรือตำแหน่งงาน แต่หากคุณสำรวจความรู้สึกของตัวเองให้ลึกพอ คุณจะได้ยินเสียงสัญชาตญาณของคุณที่บอกกับคุณว่าคุณควรไปในทิศทางไหน เรามักจะละเลยสัญชาตญาณของเราเพราะความไม่มั่นใจในตัวเอง และความกลัวว่าตัวเองจะตัดสินใจผิด แต่สุดท้ายเรามักพบว่าการทำตามสัญชาตญาณแรกของเราเป็นการตัดสินใจที่ถูกที่สุดแล้ว
งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับสัญชาตญาณของมนุษย์ได้พิสูจน์ว่าการเชื่อในสัญชาตญาณของเรามักนำไปสู่ผลที่ดีกว่าการเชื่อในหลักเหตุผลที่ผ่านการคิดวิเคราะห์ด้วยสมอง ลึก ๆ แล้วคุณรู้อยู่แล้วว่าคุณควรทำอย่างไร คุณเพียงแค่ต้องเชื่อมั่นในสัญชาตญาณและเชื่อใน “หัวใจ” ของคุณเอง
5. ปรึกษาครอบครัวและเพื่อนฝูง
การขอความคิดเห็นและคำปรึกษาจากเพื่อนและครอบครัวที่คุณเชื่อใจ เป็นไอเดียที่ดีเสมอที่จะช่วยคุณในการตัดสินใจ ตั้งคำถามว่าพวกเขาคิดว่าคุณควรเลือกทางไหน คุณอาจไม่จำเป็นต้องทำตามคำพูดของพวกเขาไปเสียทั้งหมด แต่การได้รับฟังมุมมองและทางเลือกที่แตกต่างอาจช่วยให้เกิดความกระจ่างและทำให้คุณรู้ว่าอะไรที่คุณควรโฟกัสมากขึ้น
ครอบครัวและเพื่อนของคุณรู้จักคุณดีพอที่จะพูดตรง ๆ กับคุณได้ และพวกเขายังสามารถประเมินทางเลือกของคุณจากมุมมองของคนนอกซึ่งเป็นมุมมองที่สำคัญและมีประโยชน์ในการตัดสินใจที่ดีอีกด้วย
เราเชื่อว่า 5 ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้คุณนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ฟังสัญชาตญาณและเลือกทำสิ่งที่ใช่สำหรับคุณ บางครั้งเราต้องกล้าที่จะออกจากกรอบเพื่อที่จะไปพบสิ่งใหม่ ๆ ที่รอเราอยู่ข้างหน้า ขอให้คุณประสบความสำเร็จในทางเลือกของคุณค่ะ
เรื่องอื่น ๆ ที่นาสนใจ