เรียนจบมาใหม่แบบสดๆ ร้อนๆ ควรเรียกเงินเดือนเท่าไรดี นี่คงเป็นปัญหาที่เด็กจบใหม่สงสัยและกังวลกันอยู่ไม่น้อย หากเรียกเงินเดือนน้อยไป ก็เกรงว่าจะไม่เหมาะกับคุณสมบัติของตัวเอง หรือสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองอยู่ตอนนี้ แต่ถ้าหากเรียกสูงเกินไป ก็กลัวผู้ว่าจ้างจะมามองว่าสนใจค่าตอบแทนมากเกินไป แถมยังไม่มีประสบการณ์อีกต่างหาก วันนี้เราจะมาไขคำตอบไปด้วยกัน ว่าแท้จริงแล้ว เด็กจบใหม่ไฟแรงทั้งหลาย ควรเรียกเงินเดือนแบบไหน ถึงจะเหมาะสม
เด็กจบใหม่
เริ่มต้นแนะนำกันด้วยหลักเกณฑ์ง่ายๆ 4 ข้อ ที่ควรศึกษาไว้เป็นพื้นฐาน ก่อนเข้ารับการสัมภาษณ์งานและเรียกเงินเดือน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้เฉพาะเด็กจบใหม่เท่านั้น แต่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับคนที่มีประสบการณ์การทำงานมาแล้ว และวางแผนจะสัมภาษณ์ในอนาคตอันใกล้นี้ได้ด้วยเช่นกัน
ก่อนอื่นเลยเราต้องดูก่อนว่า สายงานที่เราตั้งใจจะเดินทางไปนั้น มีอัตราเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่เท่าไร ตำแหน่งไหนได้กี่บาท เพราะว่าเงินเดือนในแต่ละสายงานหรือแต่ละอาชีพมีช่วงเงินเดือนไม่เท่ากัน ซึ่งมาตรฐานทั่วไปแล้ว ส่วนใหญ่จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท ไต่ไปสูงสุดอยู่ที่ 40,000 บาท
ในแต่ละองค์กรหรือบริษัทต่างก็กำหนดอัตราเงินเดือนขั้นต่ำในแต่ละตำแหน่งเอาไว้แล้วเช่นกัน ซึ่งก็จะเป็นไปตามโครงสร้างขององค์กรนั้นๆ ในส่วนของเด็กจบใหม่ก็จะมีระบุไว้ในแบบที่แตกต่างกัน เช่นบางบริษัทอาจเริ่มต้นที่ 15,000 บาท หรือบางบริษัทอาจเริ่มต้นให้มากกว่านั้นถึง 25,000 บาท หากเราทำการศึกษาบริษัทที่เราไปสมัครงานด้วย ก่อนที่จะเข้ารับสัมภาษณ์งานและทำการเรียกเงินเดือน ก็จะช่วยให้เราระบุเงินเดือนที่ต้องการลงไปได้อย่างเหมาะสม ยิ่งถ้าใครที่คอนเนคชันหรือคนรู้จักทำงานอยู่ที่บริษัทนั้นๆ ด้วยแล้วล่ะก็ ยิ่งได้เปรียบแน่นอน หรือถ้าไม่มีก็ลองหาคนที่ทำงานในบริษัทที่เป็นธุรกิจที่คล้ายคลึงกัน เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ
การจะเรียกเงินเดือนในแต่ละครั้ง เราต้องมองมุมต่างในฐานะผู้ว่าจ้างด้วย ว่าความสามารถของเรานั้น มีมากพอไหม หรือเหมาะสมกับตำแหน่งนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน หากต้องการเรียกเงินเดือนให้สูงจริงๆ ควรต้องนำ Job Description ของตำแหน่งนั้นมาพิจารณา ว่าความสามารถของเราตรงกับเนื้องานได้ทุกข้อหรือไม่ หรือถ้าไม่อย่างนั้น เราอาจจะต้องมีวุฒิการศึกษาที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ หรือเราต้องมีความสามารถพิเศษอื่นๆ ที่สามารถพิสูจน์ได้ และสอดคล้องกำตำแหน่งงานที่จะทำ พร้อมนำเสนอให้ผู้ว่าจ้างมั่นใจให้ได้ว่า เราเหมาะกับเงินเดือนในอัตราที่สูงกว่าปกติ
อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้การเรียกเงินเดือนดูสมเหตุสมผล ก็คือเราควรลองระบุเป็นช่วงเงินเดือนดู เพื่อให้ผู้ว่าจ้างได้พิจารณาได้ง่ายขึ้น โดยระบุจำนวนขั้นต่ำที่เราพอรับได้ และระบุเงินเดือนที่สูงเอาไว้ด้วย เผื่อการสัมภาษณ์งานเป็นไปอย่างราบรื่น และผู้ว่าจ้างเห็นถึงศักยภาพของเราจริงๆ ก็อาจจะได้รับเงินเดือนมากกว่าที่หวังไว้ก็เป็นได้
อีกหนึ่งเรื่องที่ควรนำมาพิจารณาในการเรียกเงินเดือนก็คือ เราควรคำนวณให้ดีว่า ถ้าเราได้ทำงานที่บริษัทนี้ เราต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนไหนบ้าง ค่าเดินทางสูงไหม ไกลจากบ้านมากหรือเปล่า หรือค่าครองชีพในย่านนั้นๆ ที่บริษัทตั้งอยู่ ว่าสูงเพียงไหน เพราะบางย่านอาจมีค่าอาหารที่สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ก็เป็นได้
เมื่อดูปัจจัยการใช้เงินที่เกี่ยวข้องกับบริษัทแล้ว ให้เราลองกลับมาคำนวณถึงค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเราต่อด้วย ว่าเรามีภาระอื่นๆ อะไรบ้าง รวมไปถึงการแบ่งแยกเงินที่เราต้องการเก็บออม นำเข้ามาคำนวณด้วย
ดังที่แนะนำกันเป็นข้างต้นแล้วว่า การศึกษาข้อมูลก่อนเรียกเงินเดือน เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้ได้ว่า เราควรเรียกเงินเดือนอย่างไรให้เหมาะสม อีกทั้งเมื่อเราศึกษาฐานเงินเดือนของบริษัทที่เราอยากไปทำงานด้วยแล้ว เราก็ควรศึกษาฐานเงินเดือนของบริษัทอื่นๆ ว่าเขาให้เงินเดือนพนักงานใหม่อยู่ที่เท่าไร อีกทั้งควรดูเพิ่มอีกว่า บริษัทที่เราสมัครงานนั้น มีผู้ต้องการเข้าทำงานมากน้อยเพียงใด ซึ่งนี่จะเป็นข้อมูลชั้นดี ให้เราประเมินได้ว่าเราควรได้เงินเดือนขั้นต่ำเท่าไร และจะเรียกเงินเดือนเพิ่มได้หรือไม่
หรืออีกหนึ่งช่องทางในการศึกษาฐานเงินเดือนก็คือ เราสามารถถามจาก HR บริษัทที่เราสมัครก็ได้ หรือหากใครที่สมัครงานผ่านบริษัทจัดหางาน ก็จะยิ่งง่ายมากขึ้นในการสอบถามข้อมูล
ต่อด้วยการศึกษาความต้องการของตลาด ว่าตำแหน่งที่เราสมัครนั้น เป็นที่ต้องการมากไหม หรือกำลังขาดแคลนบุคลากรอยู่หรือเปล่า ซึ่งถ้าตำแหน่งไหนมีผู้สมัครงานน้อย ก็จะสามารถเรียกเงินเดือนได้สูงกว่าปกติ
ปิดท้ายด้วยการตรวจสอบอัตราเงินเดือนจากภาพรวมของตลาด ที่ทาง JobsDB ได้จัดทำ Salary Guide เอาไว้ให้แล้ว
เมื่อได้ข้อมูลต่างๆ แบบครบถ้วนแล้ว ก็ถึงเวลาตัดสินใจแล้วว่า เงินเดือนเท่าไรที่เราควรเรียกกันแน่ ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า เราต้องพิจารณาคุณสมบัติของเราเป็นหลัก และหากมีความสามารถพิเศษอะไร ก็สามารถพรีเซนต์และแสดงหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรได้เลย ซึ่งจุดนี้จะช่วยให้เราเรียกเงินเดือนได้สูงขึ้น
โดยทาง JobsDB ได้เคยทำแบบสำรวจจากผู้ประกอบการ ถึงประสบการณ์ที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญในการสัมภาษณ์งาน โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่คำนึงถึงประสบการณ์การทำงาน 75% ประสบการณ์ทำงานนอกเวลา 49% และการทำงานนอกหลักสูตร 41%
ก่อนจะถึงวันสัมภาษณ์งาน เราควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนวันสัมภาษณ์จริง เช่นการซ้อมตอบคำถามสัมภาษณ์ ก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะช่วยให้เรามีโอกาสได้เรียบเรียงคำพูดก่อน อีกทั้งยังช่วยให้เราได้คลายความกังวลและลดความตื่นเต้นในวันสัมภาษณ์งาน ทำให้การพูดดูไม่ติดขัด ดูเป็นคนสุขุม และมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้นอีกด้วย
ซึ่งบางบริษัทที่สามารถยืดหยุ่นเรื่องเงินเดือนได้ ก็อาจจะมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้เข้ามาทดสอบเรา แต่ก็ต้องเผื่อใจไว้ด้วยว่า หากบริษัทไหนที่มีอัตราเงินเดือนที่ตายตัวอยู่แล้ว ก็อาจจะไม่มีคำถามเรื่องการเรียกเงินเดือนอยู่ในการสัมภาษณ์งานเลยก็ได้
จริงแล้วๆ การเรียกเงินเดือนของเด็กจบใหม่ อาจไม่ได้มีเรตตายตัวขนาดนั้น หรือทุกคน ทุกสายงาน จะได้รับเงินเดือนเท่ากัน เพราะทุกอย่างล้วนมีปัจจัยที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เราได้แนะนำไปนั้น ก็น่าจะเป็นตัวช่วยอย่างดี ให้เด็กจบใหม่ได้นำไปพิจารณาให้เรียกเงินเดือนได้อย่างเหมาะสม และสร้างความประทับใจให้กับผู้จ้างงานในวันสัมภาษณ์ได้อย่างดีที่สุด
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ