ตามจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี หากกิจการของญาติไม่ใช่กิจการที่เรามีส่วนได้ส่วนเสีย หรือจัดทำขึ้นโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี หรือเป็นเหตุให้กิจการนั้นมิต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลงกว่าที่ควร ก็ถือว่าสามารถทำได้ โดยสามารถอ่านข้อกำหนดน่ารู้เกี่ยวกับจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีได้ ดังต่อไปนี้
1. ความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต
- ไม่รับตรวจสอบและรับรองบัญชีในกิจการที่ตนขาดความเป็นกลาง
- ไม่ปกปิดข้อเท็จจริงหรือบิดเบือนความจริงอันเป็นสาระสำคัญของงบการเงินที่ตนลงลายมือชื่อรับรองไว้ในรายงาน
- ไม่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับการซื้อ ขาย ออก หรือใช้ใบกำกับภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- ไม่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับการลงบัญชีหรือการทำเอกสารประกอบการลงบัญชี ซึ่งเป็นเหตุให้กิจการนั้นมิต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลงกว่าที่ควร
- ไม่รับรองบัญชีที่ตนเป็นผู้จัดทำขึ้นเอง หรือช่วยเหลือ หรือเป็นผู้จัดทำบัญชีชุดอื่น เพื่อเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร
2. ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน
- ไม่ตรวจสอบและรับรองบัญชีในกิจการที่เกินความรู้ความสามารถของตนที่จะทำได้
- ไม่ทำการตรวจสอบและรับรองบัญชีเกินกว่า 300 รายต่อปี
- ไม่ลงลายมือชื่อรับรองในรายงานของกิจการที่ตนมิได้ตรวจสอบหรือควบคุมการตรวจสอบ
- ไม่ยินยอมให้ผู้อื่นอ้างว่าตนเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีใน กิจการที่ตนมิได้ตรวจสอบและรับรองบัญชี
3. จรรยาบรรณต่อผู้เสียภาษี
- ไม่เปิดเผยความลับกิจการของผู้เสียภาษีหรือผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง อันเป็นเหตุให้กิจการนั้นได้รับความเสียหาย เว้นแต่เป็นการกระทำตามหน้าที่ทางวิชาชีพหรือตามกฎหมาย
4. จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมอาชีพ
- ไม่แย่งงานตรวจสอบและรับรองบัญชีจากผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีอื่น
- ไม่ทำการตรวจสอบและรับรองบัญชีเกินกว่าที่ได้รับมอบหมายจากผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีอื่น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้มอบหมายนั้น
5. จรรยาบรรณทั่วไป
- ไม่โฆษณาหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาด้วยประการใด ๆ อันแสดงให้เห็นว่าจะช่วยเหลือให้เสียภาษีน้อยกว่าความเป็นจริง
- ไม่เรียกหรือรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ เมื่อบุคคลนั้นได้รับงาน เพราะการแนะนำหรือการจัดหางานของตน
- ไม่กำหนดค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนโดยถือเอายอดเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่ตนตรวจสอบและรับรองบัญชี เป็นเกณฑ์
ที่มา : เว็บไซต์กรรมสรรพากร