ปี 2020 เป็นยุคของคนGen Zในการเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดแรงงานของไทยกว่า 20% ซึ่งการทำงานที่มีช่องว่างระหว่างวัยค่อนข้างกว้างย่อมส่งผลให้เกิดปัญหาเนื่องจากรูปแบบการทำงานที่ไม่ตรงกันอีกด้วย ก่อนที่จะพูดถึงการทำงานร่วมกับคนGen Zเรามาทำความรู้จักกับคนGen Zกันก่อนดีกว่า
คนGen Zคือใคร?
คน Gen Z คือ กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ.2538-2552 เป็นกลุ่มคนที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นตามลำดับ และการอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีนี้ทำให้คน Gen Z มีความสามารถในการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว มีการอัพเดทเรื่องราวในสังคมออนไลน์อยู่ตลอดเวลา ชอบทำงานแบบ Multitasking คนกลุ่มนี้มีความมั่นใจในตัวเองสูง แต่ขณะเดียวกันก็เปิดกว้างทางความคิด มีแนวโน้มเป็นมนุษย์หลายงาน
ทำอย่างไรให้คนGen Zอยู่กับองค์กรในระยะยาว
หากผู้บริหาร หรือหัวหน้ากำลังจะมองข้ามแรงงานจากคน Gen Z เพียงเพราะเปลี่ยนที่ทำงานบ่อยก็ต้องขอเตือนไว้ก่อนว่าถ้ามองข้ามคนเจนเนอเรชั่นนี้ไปคงไม่ดีแน่ เพราะในอนาคตคน Gen Z จะเข้ามาเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนให้องค์กรสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ปัญหาในที่ทำงาน ที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้อยู่ที่คน Gen Z เป็นอย่างไร แต่จะทำอย่างไรให้คน Gen Z อยู่กับองค์กรได้ในระยะยาวต่างหาก
การเปลี่ยนงาน บ่อยของคน Gen Z มีเหตุผลหลักๆ อยู่ที่ผลตอบแทน และสวัสดิการที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงรูปแบบการทำงานที่ไม่ยืดหยุ่น ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่คน Gen Z รู้สึกว่าสถานที่ทำงาน หรือออฟฟิศไม่สนับสนุนการทำงาน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพงานที่เกิดขึ้นอีกด้วย ฉะนั้นองค์กรจะปรับตัวอย่างไรให้คน Gen Z และคน Gen อื่นๆ ทำงานร่วมกันได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผลงาน
เนื่องจากคน Gen Z เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี และมีจุดเด่นอยู่ที่ ความรวดเร็วในการทำงาน ดังนั้นที่ทำงานที่มีคน Gen Z อาจปรับตัวด้วยการให้มีการทำงานผ่านระบบออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงการทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้ไม่เพียงแต่เอื้ออำนวยให้คน Gen Z ทำงานเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความเป็นองค์กรดิจิตัลให้กับบริษัทอีกด้วย การทำงานในรูปแบบดิจิตัลนี้จะช่วยส่งเสริมให้องค์กรมีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานมากยิ่งขึ้น สามารถนำประสบการณ์ที่สดใหม่เข้ามาปรับใช้ให้เกิดการพัฒนาผลงานของบริษัทให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นด้วย
การทำงานร่วมกับคน Gen Z ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหาร เพราะการบริการแบบบนลงล่างที่ออกแบบกฎเกณฑ์มากมายจนเป็นการจำกัดคุณภาพในการทำงานอาจใช้ไม่ได้เสมอไป กฎเกณฑ์ที่วางไว้มักใช้วิธีการหักเงินเดือนหากทำผิดกฎ แต่ถ้าผู้บริหารหันกลับมามองคุณค่าของพนักงานที่มีต่อองค์กรมากขึ้น ปรับเปลี่ยนวิธีจากการหักเงินเดือนเป็นให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมย่อมทำให้พนักงานทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อทำงานให้สำเร็จอย่างมีคุณภาพ และการปรับเปลี่ยนนี้ไม่ใช่แค่ปรับใช้เฉพาะคน Gen Z เท่านั้น แต่ควรมองให้เห็นคุณค่าของพนักงานทุกคนในองค์กร รวมถึงให้ผลตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสมแก่พนักงานอีกด้วย
คน Gen Z ต้องการแสวงหาความรู้ และพัฒนาทักษะของตนเองอยู่ตลอดเวลา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคน Gen Z เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงต้องพัฒนาทักษะให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ดังนั้นองค์กรต้องพร้อมที่จะสร้างโอกาสในการพัฒนาทักษะให้กับคน Gen Z นอกจากนี้อย่าลืมที่จะฟีดแบ็คกับงานทันที เพราะการให้ฟีดแบ็คจากผู้บริหารเป็นสิ่งที่ช่วยแลกเปลี่ยนมุมมองการทำงานของทีมได้มากยิ่งขึ้น
คน Gen Z ไม่ใช่เพียงคนรุ่นใหม่ที่ไฟแรง แต่มอดเร็วอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ด้วยการเติบโตและทักษะของช่วงวัยนี้สะท้อนให้เห็นว่า การบริหารองค์กร แบบเก่าไม่เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่เสมอไป บางครั้งองค์กรก็ต้องปรับตัวเพื่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน โดยเฉพาะกับคน Gen Z ที่ไม่ได้มองเพียงแค่การทำงานส่วนของตนเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงความสำเร็จส่วนบุคคลที่จะสร้างคุณค่า และประโยชน์อย่างสูงในช่วงชีวิตการทำงานอีกด้วย