การเปลี่ยนสายงานไปทำด้านอื่นที่ต่างจากที่กำลังทำอยู่ หรือเรียนจบมา ต้องมีความรู้ความสามารถ หรือมีแพชชันในสายงานที่จะเบนเข็มไปพอสมควร โดยเฉพาะงานไอที หนึ่งในอาชีพมาแรงยุคนี้ ซึ่งเป็นสายงานที่ต้องมีความเชี่ยวชาญด้าน Information Technology ไม่ว่าจะเป็นงานเทคนิคคอมพิวเตอร์ แอปพลิเคชัน บนสมาร์ทโฟน การทำตลาดบนโลกออนไลน์ ไปจนถึงงานดีไซน์ 2D และ 3D ฯลฯ ใครตั้งใจจะเบนเข็มมาทางนี้ ลองมาดูสิว่า เราต้องทำอย่างไรบ้าง จึงจะไปถึงเป้าหมายที่ต้องการได้
สิ่งที่ต้องนึกถึงเมื่อจะเปลี่ยนสายไปทำด้านไอที
สำหรับคนที่มีความสนใจด้านไอที แต่ไม่ได้เรียนจบมาโดยตรง ก็ไม่ต้องท้อใจว่าจะมีโอกาสได้งานน้อยกว่าคนมีดีกรีทางด้านไอที เพราะในโลกของการทำงาน ประสบการณ์และผลงาน มีส่วนสำคัญในการพิจารณามากไม่แพ้กัน จึงต้องหันมาดูตัวเราก่อนว่าเรามีความพร้อมจะเปลี่ยนไปทำสายงานไอทีมากแค่ไหน
เราสนใจงานไอทีด้านไหน
งานด้านไอที มีหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น โปรแกรมเมอร์ วิเคราะห์ออกแบบระบบ รวบรวมฐานข้อมูล ไอทีซัพพอร์ต ดูแลเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน แอดมินดูแลระบบ งานออกแบบกราฟิก ไปจนถึงแอนิเมเตอร์ และอีกมากมาย เมื่อเราตอบตัวเองได้ว่า เราชอบงานไอทีด้านไหน เราจึงจะสามารถวางแผนเพื่อก้าวไปยังเส้นทางนั้นได้อย่างมีแนวทางชัดเจน
สกิลในงานไอทีด้านที่สนใจ อยู่ในระดับไหน
เราเชี่ยวชาญในงานไอทีด้านที่สนใจระดับไหน บางคนอาจจะเพิ่งเริ่มต้นสนใจ แต่มีแพชชันแรงกล้าต้องการต่อยอด ก็ลุยเลย ไปลงเรียนสาขาไอทีที่ชอบ หากชอบงานฮาร์ดแวร์ ก็เรียนด้านวิศวะคอมพิวเตอร์ หากชอบงานออกแบบ ก็ฝึกฝนด้านกราฟิก หรือบางคนมีไอเดียสตาร์ทอัพ ก็เริ่มต้นสร้างแอปพลิเคชัน และพัฒนาต่อยอด เมื่อเริ่มจากความชอบ สกิลก็จะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ และมีผลงานเพื่อใช้เป็นใบเบิกทางเข้าสู่งานสายไอทีได้ง่ายยิ่งขึ้น
มีประสบการณ์ทำงานด้านที่เกี่ยวข้อง หรือผลงานอะไรบ้าง
การสั่งสมประสบการณ์เป็นเรื่องสำคัญในทุกงานที่ทำ ในขณะที่ผลงานของเราก็เป็นเหมือนใบเบิกทางที่ช่วยส่งเสริมให้เราได้รับการพิจารณามากขึ้น เพราะฉะนั้นหากต้องการเปลี่ยนมาสายงานไอทีไม่ว่าสาขาใด ๆ จึงต้องมีประสบการณ์หรือผลงานในด้านที่เกี่ยวข้องมาแล้ว ยิ่งเป็นงานที่ท้าทาย โปรเจกต์ใหญ่ หรือเคยร่วมงานกับหน่วยงานที่น่าเชื่อถือมาก่อน ก็จะทำให้ตัวเราดูน่าสนใจมากขึ้น
เหตุผลในการเปลี่ยนสายงานมาทำด้านไอที
คำถามที่เราต้องเตรียมตัวตอบเมื่อคิดจะเปลี่ยนสายงาน โดยเฉพาะถ้าเราไม่ได้เรียนจบด้านไอทีมาโดยตรง หรืองานเดิมที่เราเคยทำกับงานที่เรากำลังต้องการเปลี่ยนไปทำนั้นแตกต่างกัน หรือเป็นขั้วตรงข้ามกันมาก ๆ เหตุผลในการเปลี่ยนสายงาน หรือข้ามสายงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการท้าทายตัวเอง การค้นพบตัวเองว่าชอบอะไรในที่สุด ความมุ่งมั่นที่จะทำงานตามสิ่งที่ตัวเองถนัดกว่า เพื่อแสดงความมั่นใจว่างานไอที คือความชอบแท้จริงของเรา หากเราสามารถตอบคำถามตัวเองได้ และมองเห็นว่าเป้าหมายในการเปลี่ยนงานของเราคืออะไร เราก็จะเกิดความมุ่งมั่นตั้งใจและแรงกระตุ้นในการทำงานใหม่มากยิ่งขึ้น
การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเมื่อ เปลี่ยนสายงาน
สิ่งที่ทุกคนต้องเจอเมื่อเปลี่ยนงานใหม่อาจจะมีทั้งเพื่อนร่วมงานใหม่ ที่ทำงานใหม่ กฎระเบียบใหม่ หัวหน้าใหม่ ความท้าทายใหม่ ๆ ยิ่งสำหรับคนที่เปลี่ยนสายงาน โดยเฉพาะงานด้านไอทีเป็นงานที่ต้องใช้เทคนิคซับซ้อน ความถูกต้องของข้อมูลที่ต้องเป๊ะ รวมทั้งการทำงานที่ทุ่มเท อาจต้องมีชั่วโมงทำงานที่มากขึ้น เป็นต้น เราจึงควรเตรียมใจให้พร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลงนี้ ยิ่งถ้าเราเข้าใจลักษณะของงานไอทีมาก่อน เราก็จะยิ่งเตรียมตัวให้พร้อมได้มากขึ้น
หลักสูตรสำหรับสายงานไอทีมีอะไรบ้าง จบแล้วทำงานอะไรได้บ้าง
สำหรับคนที่สนใจงานสายไอที แล้วอยากต่อยอดด้วยการเรียนต่อหลักสูตรในสาขาที่สนใจ หรือมีเป้าหมายว่าจะทำอะไร แต่ยังไม่รู้ว่าต้องเรียนสาขาไหนดี สามารถค้นหาสาขาหลักสูตรที่สนใจจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตรประกาศนียบัตร ปริญญา รวมไปถึงคอร์สระยะสั้นต่าง ๆ
1. สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) สาขานี้เรียนเกี่ยวกับการเขียนโค้ด (Coding) การพัฒนาโปรแกรมด้านคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ในส่วน Network Software และ Hardware
ตำแหน่งงาน :โปรแกรมเมอร์ นักวิเคราะห์และออกแบบโปรแกรม ผู้ดูแลระบบฐานข้อมูล เจ้าหน้าที่เทคนิค หรืองานผู้เชี่ยวชาญระบบคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
2. สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้โปรแกรมเบื้องต้น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเบื้องต้น กราฟิก และศาสตร์อื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องทางด้าน เทคโนโลยีสารสนเทศ
ตำแหน่งงาน :นักวิชาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ นักวิเคราะห์และออกแบบระบบงานด้านสารสนเทศ นักพัฒนาเว็บไซต์
3. สาขาเกมและสื่ออินเทอร์แอคทีฟ (Game and Interactive Media) สาขาที่รวมเอาวิทยาการคอมพิวเตอร์ นิเทศศาสตร์ ศิลปะ การออกแบบ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบเกมและมัลติมีเดีย จะเน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างภาพเคลื่อนไหวและงานทางด้านกราฟิก
ตำแหน่งงาน :นักพัฒนาเกม ผู้เชี่ยวชาญเกมเอนจิน โปรแกรมเมอร์สำหรับเกม นักออกแบบเกม นักออกแบบคอมพิวเตอร์กราฟิก นักออกแบบเว็บไซต์
4. สาขา วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering) เป็นสาขาวิชาที่จะเน้นเรียนในเรื่องการออกแบบ การสร้าง ทดสอบ วิเคราะห์ จนไปถึงเรื่องการบำรุงรักษาระบบคอมพิวเตอร์ (Software) อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (Hardware) และเครือข่าย (Network) ที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลข้อมูล
ตำแหน่งงาน :วิศวกรคอมพิวเตอร์ วิศวกรระบบความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ นักออกแบบซอฟต์แวร์
5. สาขาแอนิเมชันและมัลติมีเดีย (Animation and Multimedia) เรียนเกี่ยวกับการผลิตสื่อทางมัลติมีเดีย สื่อแอนิเมชัน 2D และ 3D นอกจากนี้เรายังจะได้เรียนเกี่ยวกับการสร้าง Visual Effect และสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ อีกด้วย
ตำแหน่งงาน :นักสร้างแบบจำลอง นักออกแบบ Special Effect หรือ Visual Effect นักออกแบบคอมพิวเตอร์ นักออกแบบเว็บไซต์ นักออกแบบกราฟิก
6. สาขาวิชาวิศวกรรมนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Innovation Engineering : CIE) เน้นการเรียนรู้ทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น เทคโนโลยีคลาวด์ Mobile computing Cybersecurity Big data analytics และ Internet of Things
ตำแหน่งงาน :วิศวกรระบบคอมพิวเตอร์แบบฝังตัว (Embedded) นักออกแบบผลิตภัณฑ์ นักพัฒนานวัตกรรมด้านไอที วิศวกรรทางด้านระบบ Cloud วิศวกรนวัตกรรม
การเปลี่ยนสายงานไปในสาขาที่เราไม่คุ้นเคยหรือมีประสบการณ์น้อย อาจทำให้เรารู้สึกกังวลใจ แต่ถ้าเราศึกษาหาข้อมูลให้พร้อม เตรียมตัวล่วงหน้า หมั่นศึกษาเรียนรู้ เติมทักษะใหม่อยู่เสมอ และมีแพชชันที่จะทำงานที่เรารัก เราก็สามารถเปลี่ยนงานไปสู่เส้นทางที่เราใฝ่ฝันได้
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%a5%e0%b9%87%e0%b8%94%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%9a-%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b9%84%e0%b8%ad%e0%b8%97%e0%b8%b5/
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/2021%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%8a%e0%b8%b5%e0%b8%9e%e0%b9%84%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%87/