คุณเป็นเจ้านายประเภทที่ไปทางไหนลูกน้องทางนั้นแตกกระเจิงหรือเปล่า ผู้บริหารคนไทยกว่าครึ่งเป็นเช่นนั้น ท่านผู้บริหารเคยคิดไหมว่าเป็นเพราะอะไร???
ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญผู้เผยแพร่หลักบริหารองค์กรแนวพุทธให้กับบริษัทชั้นนำประสบความสำเร็จมาแล้วมากมายกล่าวไว้ว่า สาเหตุที่ลูกน้องกลัวเจ้านาย เป็นเพราะเจ้านายไม่เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกน้อง พื้นที่ปลอดภัยที่กล่าวถึงนี้ ไม่ใช่ความรู้สึกปลอดภัยทางร่างกาย แต่พื้นที่ปลอดภัยนี้หมายถึง ความปลอดภัยทางด้านจิตใจ ที่ลูกน้องรู้สึกว่าเจ้านายคนนี้เป็นคนที่พวกเขาสามารถเล่าทุกเรื่องให้ฟังได้ กล้านำเสนอความจริง รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่าง ๆ กับเจ้านายได้
ถ้าเจ้านายรู้จักเปิดพื้นที่ปลอดภัย ให้ลูกน้องกล้าเข้าใกล้ ลดช่องว่างทางจิตใจระหว่างเจ้านายกับลูกน้องให้แคบลงได้ เจ้านายก็จะพบว่า การพูดคุยใกล้ชิดกับลูกน้องมากขึ้นทำให้มองเห็นปัญหาได้ชัดเจนขึ้น และทำให้ค้นพบวิธีแก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้นด้วย เจ้านายที่ลูกน้องรัก คือเจ้านายที่ยิ้มแย้มแจ่มใส เอาใจใส่ลูกน้อง พูดคุยถามไถ่ทุกข์สุข และรับฟังปัญหาของลูกน้องเสมอ เมื่อลูกน้องรักเจ้านาย ลูกน้องก็จะมีกำลังใจในการทำงาน รู้สึกสนุกที่ได้ทำงาน และพยายามพัฒนาตนเองให้ผลงานออกมาดีที่สุด
ตรงกันข้ามกับเจ้านายจอมเฮี้ยบที่เอาแต่ออกคำสั่ง และจู้จี้จุกจิก ตำหนิในความผิดพลาดของลูกน้องเป็นประจำ ทำให้ลูกน้องไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำอะไร เพราะกลัวว่าทำผิดแล้วจะถูกตำหนิอีก จึงทำงานแบบรอรับคำสั่งไปวัน ๆ ไม่สนุกกับงาน ไม่ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ อย่างนี้บริษัทจึงไม่ก้าวหน้า
เช่นเดียวกับที่คุณทรงพล ชัญมาตรกิจผู้บริหาร TV Direct กล่าวไว้ เขายึดหลัก 5 ย. ที่ถูกสอนต่อมาจากมาสเตอร์สุชาติ คริสธานินทร์ เป็นแนวทางในการบริหารพนักงานนับพันคนของเขา
5 ย. ที่ว่านี้ ได้แก่ ยิ้มแย้ม ยกย่อง เยือกเย็น ยืดหยุ่น และยืนหยัด
ยิ้มแย้มเป็นมิตรกับทุก ๆ คนทำให้ลูกน้องมีกำลังใจทำงาน
ยกย่องก่อนจะยกย่องใคร เราต้องย่อตัวเองให้ต่ำลงก่อน จึงจะยกคนอื่นได้
เยือกเย็นรับฟัง และตัดสินใจอย่างรอบคอบ
ยืดหยุ่นเท่าที่เราจะยืดหยุ่นได้
ยืนหยัดไม่ว่าจะเกิดปัญหาใดก็ตาม เจ้านายจะอยู่เคียงข้างลูกน้องเสมอ
จะสังเกตได้ว่า ความเก่งกาจ ฉลาดล้ำ ของผู้บริหารไม่ได้ถูกพูดถึงเลยแม้แต่น้อยในการบริหารคน หากแต่อยู่ที่การมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานมากกว่า หากผู้บริหารรู้จักเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้กับลูกน้อง พร้อม ๆ กับการบริหารบุคลากรด้วยหลัก 5 ย. ละทิ้งความยึดมั่นถือมั่น ลดการยึดติดกับอำนาจความยิ่งใหญ่ของตนลงได้ ผู้บริหารก็จะเป็นที่รักของพนักงาน ใกล้ชิดกับพวกเขาได้ โดยไม่ทำให้ “วงแตก” อย่างที่เคย