สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ เปิดเผยรายงานภาวะทางสังคมประจำไตรมาส 2/2556 ระบุว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างด้านแรงงานของไทย พบว่ากลุ่มแรงงานเยาวชนมีสัดส่วนลดลง และกำลังแรงงานกลุ่มเยาวชนส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับต่ำ โดยแรงงานกลุ่มเยาวชนร้อยละ 67.9 มีการศึกษาระดับมัธยมต้นและต่ำกว่า และร้อยละ 18.8 มีการศึกษาระดับมัธยมปลาย
ขณะที่การศึกษาระดับ ปวช. และปวส. ซึ่งตลาดมีความต้องการสูงมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5.7 และ 3.9 ตามลำดับ ที่เหลือร้อยละ 3.7 มีการศึกษาระดับปริญญาตรีและมากกว่า สะท้อนโครงสร้างแรงงานในอนาคตที่ยังไม่สามารถยกระดับไปสู่การมีทักษะแรงงานที่สูงขึ้นได้
จากความไม่สอดคล้องระหว่างการศึกษาของแรงงานและความต้องการของตลาด ทำให้ไม่สามารถดึงศักยภาพของแรงงานมาใช้ได้อย่างเต็มที่ และเกิดสูญเสียต้นทุนทางสังคม
โดยในปี 2555 มีการ ว่างงาน สูงในระดับอุดมศึกษาร้อยละ 10.8 รองลงมาคือ ปวส. ปวช. มัธยมศึกษาตอนปลาย มัธยมศึกษาตอนต้น และประถมศึกษา เท่ากับร้อยละ 5.7, 2.8 , 2.3 ,1.9 และ 1.7 ตามลำดับสะท้อนถึงโครงสร้างการผลิตส่วนใหญ่ยังเป็นการผลิตที่ไม่ซับซ้อน และใช้กำลังแรงงานเป็นหลัก
ทั้งนี้ในระดับอุดมศึกษาที่มีการว่างงานสูงมาก คือสาขาเกษตรศาสตร์ วนศาสตร์ ร้อยละ 23.4 ศึกษาศาสตร์ร้อยละ 12.7 มนุษย์ศาสตร์ร้อยละ 16.4 ศิลปกรรมศาสตร์ร้อยละ 13.8 ธุรกิจและการบริหารและพาณิชยศาสตร์ร้อยละ 12.3 นิติศาสตร์ร้อยละ 14.1 และวิทยาศาสตร์กายภาพร้อยละ 20.0 ซึ่งตลาดแรงงานสำหรับผู้จบในสาขาดังกล่าวค่อนข้างอิ่มตัว และมีจำนวนผู้จบการศึกษาที่เกินความต้องการมาโดยตลอด
สำหรับอัตราการว่าง งานระดับ ปวช. ค่อนข้างต่ำในทุกสาขา เช่นเดียวกันกับอัตราการว่างงานในระดับปวส. ยกเว้นสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ และเกษตร วนศาสตร์ที่มีอัตราการว่างงานสูง
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
มธ. เผย 10 อันดับคณะ บัณฑิตจบใหม่ ได้เงินเดือนสูงสุด
ใช้ชีวิตช่วงว่างงานให้มีคุณค่าและมีความสุข