ฝรั่งเขามีสำนวนว่า ‘Life Begins at Forty’ ซึ่งสื่อว่าชีวิตคนเรามักจะเริ่มดีขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน (วัย 40) ซึ่งอาจเพราะผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก สำหรับองค์กรเอง...พนักงานวัยนี้ถือเป็นผู้มีประสบการณ์โชกโชนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับองค์กรมานาน องค์กรของคุณมีพนักงานวัย 40 ปีขึ้นไปอยู่บ้างไหม และคุณมีวิธีเพิ่ม ศักยภาพพนักงาน อย่างพวกเขาอย่างไร
เข้าใจคนวัยนี้
พนักงานวัย 40 ปีขึ้นไป ในปัจจุบันก็คือคนตั้งแต่ช่วงเจนเอ็กซ์ไปจนถึงเบบี้บูม ซึ่งปกติมีลักษณะเป็นคนทุ่มเทรับผิดชอบต่องาน อดทน และ จงรักภักดีต่อองค์กร อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยช่วงวัยและภาระครอบครัว แรงจูงใจในการทำงานของพวกเขาอาจจะหันเหไปที่เรื่องสุขภาพและเวลามากขึ้น ดังนั้น หากหัวหน้าอย่างเราปฏิบัติต่อเขาด้วยความเข้าใจและยืดหยุ่น โดยลักษณะของคนเจนนี้เขาก็พร้อมรับผิดชอบงานให้เสร็จด้วยดี
อยู่มานาน...ก็ใช่ว่าจะเข้าใจทุกอย่าง
การที่พนักงานวัย 40 ปีขึ้นไป อยู่มานาน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรู้หรือเข้าใจทุกเรื่องได้เอง เพราะฉะนั้นหัวหน้าอย่าขาดการสื่อสารกับคนในวัยนี้โดยคิดว่าเขาคงจะรู้อยู่แล้วนะคะ สื่อสารให้พวกเขารู้ความเป็นไปและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในองค์กรเช่นดียวกันน้อง ๆ ในทีม โดยเฉพาะเมื่อสิ่งที่คาดหวังจากพวกเขาเปลี่ยนไป
ใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของเขา
การผ่านสนามชีวิตนับไม่ถ้วนมาได้จนถึงปัจจุบันแสดงว่าพนักงานวัย 40 ปีขึ้นไป ของคุณต้องมีอะไรดีอยู่ไม่น้อย และเขาเองก็เป็นผู้สั่งสมประสบการณ์ที่แน่นขนัด ทั้งเรื่องความเป็นไปขององค์กร คน และตัวงาน ดังนั้น เมื่อมีเรื่องให้ต้องตัดสินใจ ทำไมไม่ลองขอมุมมองความเห็นจากพวกเขาดูด้วยล่ะคะ แม้อาจดูไม่สมัยใหม่ เป็นขั้นเป็นตอนไม่ทันใจไปบ้าง แต่ใครจะรู้ว่าคำแนะนำของเขาอาจเป็น “เครื่องป้องกันภัยชั้นเลิศ” หรือ “หนทางแก้ปัญหาที่ใช่” ก็เป็นได้...ก็เขาอาบน้ำร้อนมาก่อนนะ และนอกจากประโยชน์ด้านตัวงานแล้ว พนักงานอาวุโสของเรายังมีกำลังใจฮึกเหิมขึ้นมาอีกโข...ก็เราให้คุณค่ากับความคิดของเขาน่ะสิ
ทุกวัยต่างต้องการเรียนรู้
ไม่มีใครเรียนรู้พอแล้ว หรือแก่เกินเรียนรู้ พนักงานวัย 40 ปีขึ้นไป ของคุณก็เช่นกันค่ะ แม้จะมากด้วยประสบการณ์ แต่พวกเขาก็ยังต้องการการอบรมเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อฟื้นฟูและต่อยอดความรู้ใหม่ ๆ นอกจากนี้ การเสริมทักษะความรู้ด้านภาษาอังกฤษและไอทีซึ่งเป็นสิ่งที่คนเจนนี้ขาด ก็จะช่วยพัฒนาศักยภาพการทำงานของพวกเขาให้ดียิ่งขึ้นไป
มอบภารกิจ “โค้ช”
ประสบการณ์ที่ดีไม่ควรเก็บใส่กรุล็อคกุญแจไว้ ลองเปิดประตูกว้าง ๆ ให้พนักงานวัย 40 ปีขึ้นไป ของคุณได้แสดงศักยภาพด้วยการทำหน้าที่เป็น “โค้ช” ดูแลถ่ายทอดประสบการณ์เจ๋ง ๆ ของพวกเขาให้คนรุ่นหลังดูสิคะ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นน้อง พนักงานใหม่ หรือเจ้าหน้าที่ฝึกงาน ซึ่งภารกิจนี้นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับพนักงานรุ่นเดอะที่ได้สร้างประโยชน์ให้กับทีมแล้ว ยังเป็นการสร้างบรรยากาศ “การแบ่งปันความรู้ภายในทีม” ที่ดีอีกด้วย
พนักงานแต่ละวัยมีศักยภาพความโดดเด่นแตกต่างกัน หน้าที่ของเราคือค้นหาให้เจอ...แล้วดึงศักยภาพนั้นออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับองค์กรมากที่สุด
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ