ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเรารู้สึกสนุกกับ งาน ที่เราทำอยู่ เราก็อาจจะมีปัญหาอื่น ๆ แทรกเข้ามาอยู่เสมอ ถ้าไม่ได้มีปัญหาที่ตัวงาน ก็มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับคนที่เราทำงานด้วย เพื่อนร่วมงาน เป็นหนึ่งในนั้น เพื่อนร่วมงานอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรากำลังไม่มี ความสุขในการทำงาน บางครั้ง เรารู้สึกไม่สบายใจที่จะต้องทำงานกับเพื่อนร่วมงานบางคน
ความรู้สึกไม่สบายใจจะยิ่งมีมากขึ้น เมื่อรู้สึกว่าเพื่อนร่วมงานกำลังเอาเปรียบเรา ทำงานโดยไม่ได้ใส่ใจว่าการกระทำของเขาจะทำให้เราเดือดร้อนหรือไม่ ทำให้เราต้องเริ่มคิดแล้วว่า เราจะทำงานกับเพื่อนร่วมงานอย่างนี้ไปได้นานแค่ไหน
แล้วเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหาที่มักจะเอาเปรียบเรา มีกี่ประเภท แล้วจริง ๆ แล้ว เราเคยเจอคนพวกนี้ในออฟฟิศของเราบ้างไหม ถ้าเจอกันจริง ๆ แล้ว จะรับมือกับเขาอย่างไรดี
แต่จะต้องทำอย่างไร หากต้องเผชิญหน้ากับคนเช่นนี้ขึ้นมาจริง ๆ เมื่อเริ่มรู้สึกว่ากำลังถูกเพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ ลองทำตามวิธีการเหล่านี้ดู แล้วมาดูกันว่าเราจะต่อกรกับ เพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา ได้ดีขนาดไหน
งดใช้ความรุนแรง
อย่าเพิ่งโมโห แม้ว่าบางครั้งเพื่อนร่วมงานของเราอาจจะมีพฤติกรรมเลวร้ายไปบ้าง แต่เราก็ไม่ควรโต้ตอบเขาด้วยความรุนแรง เพราะนั่นเท่ากับว่าเราก็ไม่ได้แตกต่างจากเขาเท่าไรนัก หากหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรโต้ตอบเขาด้วยถ้อยคำ หรือแสดงออกทางอารมณ์ที่รุนแรง การเลือกที่จะไม่โต้ตอบน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด อย่างน้อยเราก็ไม่ต้องถูกมองในแง่ลบ
ถอยห่างเมื่อมีโอกาส
การเผชิญหน้ากับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา เป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากใจอยู่ไม่น้อย เพราะนอกจากเขาจะไม่เข้าใจว่าเขากำลังสร้างปัญหาให้กับเราแล้ว เขาอาจจะมองว่าเราเองต่างหากที่เป็นปัญหาในการทำงานสำหรับเขาอยู่ หากยังคงไม่สามารถสร้างความเข้าใจกันได้ สิ่งที่เราควรจะทำ คือการถอยห่างออกมาก่อน เพื่อไม่ให้เกิดการตอบโต้กันด้วยความรุนแรง อีกทั้ง ต้องไม่แสดงออกว่าเรากำลังโกรธ หรือไม่พอใจกับสิ่งที่เขาทำ เพราะอาจจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้น
พูดคุยอย่างตรงไปตรงมา
หากปัญหาความขัดแย้งควรมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว เราก็ควรจะเปิดใจพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน แต่ควรพูดเมื่อเราไม่อยู่ในอารมณ์โกรธแล้ว ก่อนที่จะเริ่มพูดคุย เราต้องตัดความขุ่นเคืองออกไปก่อน แล้วพูดคุยกันด้วยเหตุผล เมื่อต้องการจะเคลียร์ปัญหา เราควรพูดอย่างตรงไปตรงมาไป บอกให้เพื่อนร่วมงานคนนั้นรู้ว่าเรารู้สึกไม่สบายใจอย่างไรบ้าง เราไม่ชอบพฤติกรรมส่วนไหนของเขาบ้าง และสิ่งเหล่านั้นทำให้ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร
คำนึงเรื่องงานเป็นหลัก
แต่ท้ายที่สุดแล้ว หากการพูดคุยกันไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ เราเองอาจต้องยอมรับว่า เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะพฤติกรรมของคนเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ๆ เมื่อมาถึงจุดนี้ เราอาจจะต้องกลับมาคิดว่าเราเข้ามาอยู่ในออฟฟิศเพื่ออะไร เรามาทำงานใช่หรือไม่ หากใช่ เราคงต้องบอกตัวเองแล้วว่างานสำคัญกว่าคน หากสิ่งที่เพื่อนร่วมงานของเราทำ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงานมากนัก เราก็อาจจะต้องปล่อยให้เป็นไป
ขอให้หัวหน้าช่วยจัดการ
อย่าเพิ่งรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนขี้ฟ้อง หากจะต้องเอาเรื่องที่เกิดขึ้นไปเล่าให้เจ้านายฟัง การที่เรื่องไปถึงหู เจ้านาย นั่นก็หมายความว่าเรื่องนี้สุดที่จะเยียวยา และเราไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ด้วยตัวเองแล้วจริง ๆ เราจึงต้องขอให้หัวหน้าช่วยเหลือเรา ให้ตักเตือนเพื่อนร่วมงานที่กำลังสร้างความเดือดร้อนให้เรา
เพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหามีอยู่ทุกที่ทุกเวลา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะรับมือกับคนเหล่านั้นอย่างไร การแสดงให้เขาเป็นว่าเราไม่แฮปปี้กับสิ่งที่เขาทำ เป็นหนทางหนึ่งของการแสดงจุดยืนของเรา หากเขามีความเกรงใจเราอยู่บ้าง เขาก็จะไม่สามารถสร้างความเดือดร้อนให้กับเราได้อีก แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกใช้วิธีไหนเท่านั้นเอง
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ