การบริหารจัดการกับคนนั้นยากยิ่งกว่าการบริหารจัดการกับงาน การทำงานบริหารจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อลูกน้องทำตัวมีปัญหา ในฐานะหัวหน้างานจะรับมืออย่างไรนั้น เป็นบททดสอบที่หัวหน้างานทุกคนต้องประสบพบเจอ และแก้ไขปัญหาให้ได้ jobsDB มีคำแนะนำในการพูดคุยกับลูกน้องที่มีปัญหาลองนำไปใช้กันดูค่ะ
พูดคุยกันเมื่อทำผิด
เมื่อลูกน้องทำผิด ในฐานะหัวหน้างานควรหาโอกาสเข้าไปพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ไม่ควรแสดงออกว่าคุณต้องการว่ากล่าวตักเตือนเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ ควรแสดงเจตนาว่าต้องการช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี การที่จะเข้าไปพูดคุยนั้น ควรเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย เพราะไม่เช่นนั้น อาจทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้นได้
เริ่มต้นอย่างนุ่มนวล
ในการเข้าไปพูดคุยถึงปัญหาเป็นการส่วนตัวนั้น ควรเริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคุณอาจจะให้สัญญาณว่า กำลังจะเริ่มต้นพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องลำบากใจที่จะพูดถึง แต่คุณก็จำเป็นต้องพูด เพื่อให้ลูกน้องของคุณได้ทราบถึงปัญหา และแนวทางแก้ไข เพื่อนำไปปรับปรุงต่อไป
ชี้ให้เห็นผลดีเมื่อแก้ปัญหาสำเร็จ
วิธีพูดคุยที่ดีที่สุดคือการพูดอย่างตรงไปตรงมา และเข้าใจง่าย ไม่ต้องอ้อมค้อม โดยบอกลูกน้องว่าหากเขาสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้จะส่งผลดีอย่างไรต่อตัวเขาและองค์กร ในขณะเดียวกันหากเขาไม่เปลี่ยนแปลงจะเกิดผลกระทบต่อหน้าที่การงานของเขาอย่างไร การพูดกันด้วยเหตุผลที่ทำให้เขาได้คิดจะให้ผลตอบรับที่ดีกว่าการทำให้ลูกน้องรู้สึกกดดันในคำพูดของคุณ
ทำข้อตกลงในการปรับปรุงตน
เมื่อพูดคุยกันจนเข้าใจแล้ว ควรกำหนดระยะเวลาในการปรับปรุงตน อาจเริ่มตั้งแต่วันรุ่งขึ้นเป็นต้นไปจนถึงระยะเวลาเท่าใด ให้ลูกน้องเป็นผู้กำหนดกรอบเวลาด้วยตนเอง ส่วนคุณเป็นผู้ติดตามและประเมินผลเมื่อครบกำหนดตามที่ตกลงกัน
เมื่อถึงเวลาการประเมินผล คุณอาจพบว่าบางปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข อาจเป็นเพราะยังแก้ไม่ถูกจุด คุณอาจต้องลองวิเคราะห์ปัญหาดูอีกครั้งและให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม แต่หากคุณได้ติดตามผลแล้วพบว่าเป็นเพราะลูกน้องไม่ให้ความร่วมมือ อาจจำเป็นต้องมีการคาดโทษในขั้นตอนต่อไป