ไม่มีคำว่าสาย สำหรับคนที่คิดจะ เปลี่ยนสายงาน ถ้าคุณกำลังกังวลว่าเรซูเม่ของคุณจะถูกคัดทิ้ง เพราะคุณสมัครงานไม่ตรงสายกับที่เรียนมา หรือสมัครงานไม่ตรงสายกับประสบการณ์การทำงานของคุณอยู่ นี่คือ 5 วิธี ที่ jobsDB อยากให้คุณทำ เพื่อเรซูเม่สำหรับคนที่เปลี่ยนสายงานอย่างคุณ จะได้โดดเด่นไม่แพ้ใคร
1. ตอบตัวเองให้ได้ว่า “ทำไมถึงจะเปลี่ยนสายงาน”
สิ่งแรกที่คุณต้องทำ ก่อนจะลงมือเขียนเรซูเม่ฉบับนี้ คือ คุณต้องถามตัวเองให้ดีก่อนว่า “ทำไมคุณถึงจะ เปลี่ยนสายงาน ” เพราะคำถามนี้ ต้องเป็นคำถามแรกที่ฝ่ายบุคคลถามคุณแน่นอน จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องตอบคำถามนี้ให้ชัดเจน ถ้าคุณตอบแค่เพียงว่า “คุณอยากมองหาการเปลี่ยนแปลง” บอกได้เลยว่า คำตอบนี้ไม่น่าสนใจพอที่จะดึงดูดให้ฝ่ายบุคคลสนใจคุณเลย เพราะฝ่ายบุคคลเค้าต้องการความเชื่อมั่นว่า ถ้าเค้าจ้างคุณมาแล้ว คุณจะมีความมุ่งมั่นทำงานในสายงานใหม่ที่คุณเลือกนี้ได้จริง และสามารถบรรลุเป้าหมายที่เค้าต้องการ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นเลย ถามตัวเองก่อนว่า “ทำไมคุณถึงจะทำงานนี้” จงซื่อสัตย์และตอบคำถามนี้กับตัวเองให้ได้ก่อน
2. ทิ้งเรซูเม่เก่าไป เขียนเรซูเม่ใหม่ขึ้นมา
แน่นอนว่าเรซูเม่ของคุณจะไม่น่าสนใจเท่ากับเรซูเม่ของคนที่มีประสบการณ์ทำงานในสายนี้มาอยู่แล้ว คุณจะต้องเจองานยากเป็น 2 เท่า กับการที่จะทำเรซูเม่ให้น่าสนใจ ให้เรซูเม่ของคุณเตะตาฝ่ายบุคคลได้ ซึ่งในเรซูเม่ของคุณยังคงต้องระบุประวัติการทำงานของคุณให้ครบถ้วน แต่แนะนำให้คุณเขียนเน้นไปที่ว่า คุณจะนำทักษะการทำงาน และประสบการณ์การทำงานที่คุณมีไปปรับใช้กับงานใหม่ให้เกิดประโยชน์อย่างไรได้บ้าง ยกตัวอย่าง ถ้าคุณทำสายงานบัญชีมาก่อน แต่ต้องการจะเปลี่ยนตัวเองไปทำสายงานออกแบบกราฟิก คุณควรจะเน้นไปที่ว่า คุณสามารถใช้ทักษะการสื่อสาร และทักษะการบริหารจัดการลูกค้าที่คุณมี มาใช้กับสายงานออกแบบนี้ได้ และอาจจะแสดงทักษะความคิดสร้างสรรค์ของคุณ ด้วยการออกแบบ เรซูเม่สุดครีเอท ของตัวคุณเองขึ้นมา หรือฝากลิ้งค์ตัวอย่างงานออกแบบของคุณผ่านช่องทางออนไลน์ให้กับฝ่ายบุคคลสามารถเข้าไปดูด้วยก็ได้
3. เขียนประโยคสรุปรวม ที่ย่อหน้าแรกของเรซูเม่
นี่คือจุดสำคัญในการเขียนเรซูเม่ฉบับนี้ของคุณเลยก็ว่าได้ ให้คุณอธิบายถึงวัตถุประสงค์ในการสมัครงานให้ชัดเจน และเข้าใจง่าย เช่น สิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้คุณคิดเปลี่ยนสายงานคืออะไร, สาเหตุที่คุณคิดจะเปลี่ยนมาทำสายงานนี้ และคุณมีวิธีการอะไรที่จะทำงานนี้ให้บรรลุเป้าหมาย
สาเหตุที่ต้องมีย่อหน้านี้ เพราะถึงแม้ว่าฝ่ายบุคคลจะอ่านเรซูเม่ของคุณไม่จบ แต่คุณได้เขียนวัตถุประสงค์ในการสมัครงานทั้งหมดไว้ในย่อหน้านี้แล้ว เพราะฉะนั้น ย่อหน้าแรกนี้ควรเขียนให้น่าสนใจ และดึงดูดใจฝ่ายบุคคลให้มากที่สุด
4. เขียนความสำเร็จของคุณผ่านข้อมูลสถิติ หรือข้อมูลตัวเลข
ข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จของคุณนี้ อาจจะเป็นด่านที่ 2 ที่จะดึงดูดความสนใจให้ฝ่ายบุคคลหยุดอ่านเรซูเม่ของคุณเลยก็ว่าได้ ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงพวกศัพท์เฉพาะในสายงานนั้น ๆ เพราะคนที่ไม่ได้อยู่ในสายงานเดียวกับคุณ อาจจะไม่เข้าใจ การเขียนด้วยข้อมูลสถิติ หรือข้อมูลตัวเลข จะทำให้เห็นภาพได้ง่าย และเห็นภาพได้อย่างชัดเจน
ตัวอย่างการเขียนข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จ ผ่านตัวเลข “achieved 80%client retention would be as relevant for a Marketing Consultancy as it is for an Automotive Retailer.” (คุณสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ได้ถึง 80% ซึ่งถือเป็นระดับที่เหมาะสมสำหรับที่ปรึกษาด้านการตลาดในธุรกิจจำหน่ายรถยนต์)
จากตัวอย่าง จะเห็นได้ว่า ถ้าเขียนเป็นข้อมูลตัวเลขแบบนี้ แม้ฝ่ายบุคคลจะอ่านแบบกวาดสายตาอย่างรวดเร็ว ข้อมูลสถิติ หรือข้อมูลตัวเลขที่คุณระบุลงไป จะดึงดูดสายตาของฝ่ายบุคคลให้หยุดอ่านเรซูเม่ของคุณอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น คุณควรเขียนความสำเร็จของคุณด้วยตัวเลข เพื่อสร้างจุดเด่นให้กับเรซูเม่ของคุณ
5. เน้นที่การเขียนกิจกรรมนอกหลักสูตร
คนที่กำลังจะเปลี่ยนสายงาน การเขียนกิจกรรมนอกหลักสูตรที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานใหม่ของคุณ จะทำให้ดูมีน้ำหนักมากกว่าประสบการณ์การทำงานก่อนหน้านี้ เช่น เป็นอาสาสมัคร, ได้ฝึกงาน, ทำงานให้คำปรึกษานอกเวลา หรือลงคอร์สอบรมที่เกี่ยวข้องกับงานใหม่ ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงความถนัด และความรักในงานใหม่ที่คุณกำลังเลือกที่จะเปลี่ยน
คุณกำลังคิดที่จะเปลี่ยนสายงานเพื่อให้ชีวิตการทำงานของคุณดีขึ้นอยู่หรือเปล่า ไม่ว่าคุณจะเปลี่ยนสายงานด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม jobsDB เชื่อว่าคุณจะได้งานใหม่ที่ทำให้ชีวิตของคุณดีขึ้นแน่นอน
#icanbebetter
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ