ไขปัญหาคาใจคนทำงานทั้งหลาย...เมื่อเปลี่ยนงานใหม่ จะ เรียกเงินเดือน อย่างไรให้ทั้งตัวเราและเจ้านายใหม่แฮปปี้ win-win กันทั้งสองฝ่าย ไม่มีใครเสียประโยชน์จากการต่อรองเงินเดือน คนทำงานต้องไม่เสียเปรียบ และขณะเดียวกันองค์กรก็ไม่เสียประโยชน์ด้วยเช่นกัน คุ้มค่ากับการลงทุนด้านทรัพยากรบุคคลที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรต่อไป ทำอย่างไรจะให้เจ้านายใหม่เกิดความเชื่อมั่น รับฟังตัวเลขเงินเดือนที่เราเสนอ พร้อม say yes ตอบตกลงเงินเดือนใหม่ให้เราแฮปปี้ ชีวิตดี๊...ดีได้สุด ๆ
jobsDB มีเทคนิคดี ๆ มาฝากคนทำงานที่อยากจะขยับ step เปลี่ยนงาน ว่ามีหลักการอะไรบ้างที่ควรคำนึงในการอัปเรทเงินเดือน
1. โครงสร้างเงินเดือนในตลาดงาน
การเรียกเงินเดือนที่มากไปหรือน้อยเกินไป อาจทำให้ผู้สัมภาษณ์งานข้องใจในความสามารถของเรา เพราะความสามารถของเราอาจเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับตัวเลขที่เรียกไปก็ได้ จำนวนเงินเดือนที่ไม่พอดีและทำให้องค์กรเกิดการตั้งคำถามกลับแบบนี้จะส่งผลเสียกับการต่อรองเงินเดือนของเราเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงควรตั้งเงินเดือนในอัตราที่เหมาะสม สอดคล้องกับโครงสร้างเงินเดือนในตลาดงาน โดยศึกษาหาข้อมูลได้จาก เว็บไซต์หางาน ทั้งหลาย หรือสอบถามจากผู้มีประสบการณ์ตรง หรือลองสำรวจดูก่อนว่าเงินเดือนของตำแหน่งงานที่เราทำอยู่นั้น องค์กรสามารถจ่ายเงินเดือนให้เราได้เท่าไหร่ ส่วนใหญ่องค์กรต่าง ๆ ก็จะมีงบประมาณเงินเดือนของแต่ละตำแหน่งกำหนดไว้อยู่แล้ว อย่าลืมว่าหากตั้งเงินเดือนเว่อร์เกินไป หรือเกินงบประมาณที่องค์กรตั้งไว้ แถมคุณสมบัติของเราก็ยังไม่ดึงดูดให้องค์กรอยากเรียกมาต่อรองแล้วละก็ องค์กรก็อาจพิจารณาตัวเลือกลำดับถัดไปมาแทนที่เราได้
2. ค่าใช้จ่ายในการทำงานที่ใหม่
ย้ายงานแต่ละที่ต้องดูดี ๆ ว่ามีรายจ่ายเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าสังสรรค์ ค่าครองชีพทั้งหลายของที่ทำงานใหม่ คำนวณค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ ต่อเดือนแล้วเก็บข้อมูลไว้ ลองวางแผนต่อว่า เราต้องทำงานที่นี่ต่อไปอีกกี่ปี อัตราเงินเฟ้อปีละประมาณเท่าใด โดยปกติแล้วอัตราเงินเฟ้อจะส่งผลให้ค่าครองชีพของเราเพิ่มขึ้น 2 - 3% ต่อปี ข้อมูลค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะสามารถบอกได้ว่าเราต้องได้รับเงินเดือนเพิ่มเท่าไหร่จึงจะพอใช้พอเก็บนั่นเอง
3. คุณค่าประสบการณ์ ความสามารถ และทักษะในการทำงานที่มี
ความสามารถในการทำงานเป็นอีกสิ่งที่ทำให้เรามั่นใจได้ว่าเราสามารถต่อรองเงินเดือนได้ สามารถแข่งขันกับคนอื่น ๆ ในตลาดงานได้ เรามีข้อดีอะไร หรือมีทักษะใดที่เหนือกว่าคนอื่นหรือไม่ ทั้งวุฒิการศึกษา ผลงานที่ผ่านมา การฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายงาน หรือการทดสอบความรู้ต่าง ๆ แน่นอนว่าเจ้านายใหม่ต้องยินดีที่จะได้คนเก่ง มีศักยภาพมาร่วมงานด้วย พึงระวังไว้ว่า อย่าพูดหรือแสดงออกใด ๆ ให้เจ้านายใหม่รู้ว่า “เงิน” เป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนงานของเรา แต่ต้องทำให้เขารู้ว่าเงินเดือนที่เราเรียกไปเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว อ้างอิงจากประสบการณ์ ทักษะ และความสามารถที่เรามี ต้องสร้างความประทับใจพร้อมแสดงทัศนคติเชิงบวก เพื่อให้ไม่พลาดงานที่ต้องการ และเรียกเงินเดือนได้ใกล้เคียงกับความต้องการของเราได้มากขึ้น
4. ค่าความท้าทายในงาน
หากงานใหม่มีระดับความยากในการทำงานเพิ่มขึ้น ความท้าทาย และความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในการทำงาน ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการเรียกเงินเดือนให้เหมาะสมกับค่างาน ถ้าหากได้เข้าไปทำแล้วจะคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องความท้าทายในงานใหม่นั้น ผู้หางานควรมองว่าสิ่งนี้คือโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเป็นโอกาสในการพัฒนาตัวเองด้วยเช่นกัน
5. ค่าสวัสดิการ
การพิจารณาเรื่องเงินเดือนอย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอ ให้ดูว่าสวัสดิการต่าง ๆ ที่จะได้รับจากที่ทำงานใหม่เป็นอย่างไร เพราะสวัสดิการที่ดีก็มีความสำคัญไปไม่น้อยกว่าเงินเดือนสูง ๆ อีกทั้งเงินเดือนที่เห็นว่าเยอะนั้น ก็อาจจะหมดไปกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการเปลี่ยนที่ทำงานใหม่ด้วยก็ได้ ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว อาจเหลือเงินไม่พอใช้อยู่ดี ดังนั้นก่อนจะมีการต่อรองเงินเดือน ลองคิดเฉลี่ยค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เสียก่อน จะได้ดูว่าเงินเดือนที่เราจะได้รับนั้นพอดีกับค่าใช้จ่ายหรือไม่ ไม่แน่ว่าเงินเดือนที่น้อยกว่า แต่สวัสดิการดีกว่า อาจตอบโจทย์ความต้องการของเรามากกว่าก็ได้
6. ค่าความสามารถของตนที่เหมาะสม
ถึงเวลาคำนวณค่าตัวที่เหมาะสมกันแล้ว เริ่มจากดูว่าปัจจุบันเราได้เงินเดือนเท่าไหร่ ให้นำเงินเดือนตัวเองในปัจจุบัน มาคูณ 12 เดือน หรือถ้าบริษัทที่ทำอยู่มีโบนัสประจำ ก็คูณ 13 เดือนเข้าไป (เช่น 20,000 x 13 = 260,000) ได้ตัวเลขเงินเดือนทั้งปี หากมีโบนัสที่จ่ายตามผลงานหรือเบี้ยเลี้ยงอื่น ๆ ก็ให้นำเงินได้นั้นมาคิดค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (เช่น 40,000+20,000+20,000 = 80,000/3 = 26,667) แล้วนำมารวมกับเงินเดือนต่อปีข้างต้น (260,000+26,667 = 286,667) หารด้วย 12 เดือน (= 23,889 ตีเป็นเลขสวยกลม ๆ 24,000) นี่คือเงินเดือนขั้นต่ำที่เราควรได้รับ
ได้ตัวเลขเงินเดือนขั้นต่ำที่ควรได้รับแล้ว ก็ให้นำเงินที่ว่ามาบวกเพิ่มด้วยค่างานของงานที่ใหม่ เช่น ความท้าทายของงาน เนื้องานใหม่ ๆ ที่ต้องเรียนรู้ ยิ่งงานท้าทายมากก็บวกเพิ่ม แต่ควรให้อยู่ในช่วงประมาณ 10 - 15% จึงจะถือว่ากำลังดี ในเมื่อเรามีหลักการคำนวณอย่างเป็นระบบแบบนี้ เวลาบริษัทถามก็สามารถตอบได้อย่างมั่นใจมีเหตุผลหนักแน่น เพิ่มคะแนนบวกบวกไปในตัว
จะว่าไปการเปลี่ยนงาน และเรียกเงินเดือนใหม่ให้เหมาะสมก็เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องมีการทำการบ้าน หาข้อมูล เพื่อนำไปสู่การเจรจาต่อรองที่มีประสิทธิภาพ เพราะหากเรียกเงินเดือนสูงไปก็อาจไม่ได้งาน เรียกเงินเดือนต่ำไปก็อาจเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายย่อมรู้ดีว่ากว่าเงินเดือนจะขยับขึ้นในแต่ละปีนั้นยากเย็นแสนเข็ญเพียงใด หากสามารถสร้างฐานเงินเดือนที่สูงได้ตั้งแต่แรก ก็จะเป็นพลังในการทำงานได้ต่อไป เริ่มต้นด้วยเรื่องดี ๆ ก็ย่อมต่อยอดไปสู่สิ่งดี ๆ ได้อีกมากมาย
ตัวเลขเงินเดือนที่น่าพึงพอใจ สามารถสร้างแรงจูงใจในการทำงาน และเป็นหนทางสู่การสร้างอิสรภาพทางด้านการเงิน เพียง อัปเดตโปรไฟล์กับ jobsDB สร้างโอกาสในสายอาชีพได้ง่าย ๆ ช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้ สร้างจุดเด่นให้ตัวตน เพื่อให้องค์กรค้นหาคนที่ใช่ แล้วปล่อยให้โอกาสตามหาตัวคุณ
#icanbebetter
สอบถามเทคนิคการหางาน และเทคนิคการทำงานได้ง่าย ๆ หรือหางานจากบริษัทชั้นนำมากมาย แค่ add friend แล้วแชทมาคุยกับเราเลย ที่นี่
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ