หนึ่งในคำถามที่คนเรียนสายอาชีพหลายคนมักจะสงสัยอยู่ในใจ นั่นคือ “จบสายอาชีพ หางานยากหรือเปล่า” ทั้งที่จริงแล้ว การเรียนสายอาชีพมีข้อดีที่โดดเด่นอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องการได้ทดลองทำงานจริง มีประสบการณ์ทำงานจริง
รวมไปถึงการเรียนที่ใช้เวลาสั้นช่วยประหยัดเวลาและทำให้เราได้ก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น การเรียนในสาขาที่เห็นแนวทางชัดเจน ช่วยให้เราสามารถวางแผนการประกอบอาชีพในอนาคต และมองเห็นเส้นทาง Career Path ของตนเองได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย นั่นจึงแสดงให้เห็นว่า การเรียนสายอาชีพนั้นไม่ได้หางานยากอย่างที่คิด แต่มีงานด้านไหนบ้างนะที่น่าสนใจ มาหาคำตอบไปพร้อมกันเลย
หลักสูตรการศึกษาสายอาชีพมุ่งเน้นให้นักศึกษาที่เรียนจบได้มีความรู้ความสามารถในสายงานเฉพาะทางโดยแบ่งเป็นหลักสูตรหลัก ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ซึ่งเป็นความรู้ในระดับพื้นฐานสำหรับการประกอบอาชีพนั้น ๆ และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) เน้นความรู้เฉพาะทางและความชำนาญที่สูงกว่าในระดับ ปวช. ซึ่งสามารถไปศึกษาต่อสายสามัญในระดับปริญญาตรี ในบางสาขาวิชา เช่น สาขาบัญชี สาขาการโรงแรม สาขาวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น
ข้อดีของการเรียนจบสายอาชีพ คือ แม้ว่าเราจะไม่ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี แต่เราก็สามารถเริ่มประกอบอาชีพได้เลย นั่นจึงทำให้เราสามารถก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เริ่มงานได้เร็วขึ้น เริ่มเก็บประสบการณ์ทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งสายงานที่คนจบสายอาชีพสามารถทำได้ ได้แก่
สาขาเครื่องกล ยานยนต์ ช่างซ่อมบำรุง ช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม งานก่อสร้าง โยธา สถาปัตยกรรม เครื่องเรือน ตกแต่งภายใน และสาขางานพิมพ์
โดยสาขานี้สามารถต่อยอดด้วยการศึกษาต่อระดับปริญญาในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรม หรือสาขาที่เกี่ยวข้องได้
สาขาการบัญชี การขาย การตลาด เลขานุการ งานธุรการ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ค้าปลีก งานประชาสัมพันธ์ สาขาภาษาต่างประเทศ
สามารถศึกษาต่อระดับปริญญาในสาขาการบัญชี สาขาบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้
สาขาวิจิตรศิลป์ งานออกแบบ งานศิลปหัตถกรรม อุตสาหกรรมเครื่องหนัง งานปั้น งานประติมากรรม เทคโนโลยีการถ่ายภาพ เครื่องประดับและอัญมณี งานเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ คอมพิวเตอร์กราฟิก แอนิเมชัน อุตสาหกรรมภาพยนตร์ อาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดนตรี และเทคโนโลยีนิเทศศิลป์ เป็นต้น
สาขาผลิตและตกแต่งสิ่งทอต่าง ๆ ออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้า อุตสาหกรรมเสื้อผ้า สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ การแปรรูปอาหาร ธุรกิจเกี่ยวกับอาหารต่าง ๆ งานคหกรรมเพื่อการโรงแรม งานเสริมสวยและเครื่องสำอาง เป็นต้น
สาขางานเกี่ยวกับการเกษตรต่าง ๆ สาขาพืชศาสตร์ สัตวศาสตร์ อุตสาหกรรมการเกษตร การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การแปรรูปสัตว์น้ำ การประมงทะเล
งานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต่าง ๆ งานดูแลนักท่องเที่ยวมัคคุเทศก์ การโรงแรม งานบริหารเกี่ยวข้องกับโรงแรม ที่พักโฮมสเตย์
แม้ว่าใน 1-2 ปีนี้ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวจะซบเซาลงไปเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 แต่พื้นฐานทางภาษาของผู้ที่เรียนจบด้านนี้ก็ยังสามารถนำไปปรับใช้ได้ในอีกหลากหลายอาชีพ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการประชาสัมพันธ์ได้ เช่น งานแปล งานเอกสาร งานล่าม เป็นต้น จึงทำให้คนที่เรียนจบสาขานี้ยังมีตลาดงานรองรับอยู่บ้าง ไม่ถึงกับถึงทางตันเสียทีเดียว
สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาเทคโนโลยีระบบเสียง งานไอที โปรแกรมเมอร์ คอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ งานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไอทีต่าง ๆ คอมพิวเตอร์เกม และงานสายแอนิเมชัน
งานด้านการขนส่งแบ่งออกเป็นหลายระดับ ตามความถนัดและความสนใจ โดยสามารถทำได้ตั้งแต่ตำแหน่งพนักงานขับรถ พนักงานประจำคลังสินค้า (วุฒิมัธยมปลาย) พนักงานศูนย์กระจายสินค้า (ขั้นต่ำคือวุฒิ ปวส. ไม่จำกัดสาขา) ไปจนถึงระดับหัวหน้าศูนย์กระจายสินค้า (วุฒิ ปวส. หรือสูงกว่า) รวมไปถึงงานในตำแหน่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ช่างเทคนิค เจ้าหน้าที่ควบคุมการส่งออก งานธุรการขนส่ง เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า หลายบริษัทเปิดรับพนักงานวุฒิ ปวช. และ ปวส. จากหลากหลายสาขา ไม่จำกัดเฉพาะสาขาใดสาขาหนึ่ง จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่เรียนจบสายอาชีพสามารถหางานได้ง่ายขึ้น สามารถเปลี่ยนสายงานไปทำงานที่สนใจจริง ๆ ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องข้อจำกัดของวุฒิการศึกษา
การเรียนสายอาชีพนั้นไม่ได้หางานยากอย่างที่คิด แถมยังมีข้อได้เปรียบหลายอย่างที่ช่วยส่งเสริมทำให้คนเรียนจบสายอาชีพสามารถหางานได้ง่ายขึ้น มีตลาดงานรองรับมากขึ้น มองเห็นเส้นทางการทำงานในอนาคตของตนเองได้ชัดเจน เพื่อที่ตัวเราจะสามารถวางแผนการทำงานได้ตรงกับความสนใจของเรามากที่สุด
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
อ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติม