การสร้างองค์กรให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม(CSR)ซึ่งถือเป็นทั้งสินทรัพย์และคุณค่าขององค์กรเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับ ธุรกิจ ผ่านกระบวนการการรักษาสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ (รายได้) สังคม และสิ่งแวดล้อม หรือ triple bottom line นั้น องค์กรธุรกิจไทยหลายแห่งก็พัฒนา ซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ขององค์กรจนเรียกได้ว่า เป็น "CSR ขั้นเทพ"กล่าวคือ สร้างกลยุทธ์ซีเอสอาร์จากการตอบสนองความต้องการและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders engagement) ทั้งพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า ผู้ถือหุ้น สังคม และชุมชน จนทำให้กิจกรรมซีเอสอาร์ของบริษัทสร้างทั้งคุณค่าและมูลค่าในธุรกิจ บางแห่งสามารถคิดค้น สร้างนวัตกรรมซีเอสอาร์ที่ออกมาทั้งในรูปแบบการบริหารจัดการธุรกิจ การผลิตสินค้าและบริการ และการให้อย่างมีกลยุทธ์ คือไม่ได้ให้ เปล่า ๆ ไม่ได้ให้แบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ แต่ให้อย่างที่คนให้ก็ได้เรียนรู้และเข้าใจสภาพปัญหา สภาพสังคม และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการทำธุรกิจ ส่วนผู้รับก็ได้รับอย่างมีส่วนร่วมในการพัฒนาและยกคุณภาพชีวิตของตนเองได้ โดยมีภาคธุรกิจเป็นฝ่ายสนับสนุนหรือเป็นเพื่อนร่วมโครงการกัน
แต่อย่างไรก็ตามระดับความรู้ ความเข้าใจและการใช้ซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ในธุรกิจ ไทยก็ยังมีอยู่ในหลายระดับ ตั้งแต่กลุ่มตั้งไข่ เพิ่งเข้าใจ เพิ่งเรียนรู้ กลุ่มระยะ กลาง ๆ ที่นำแนวคิดเรื่องซีเอสอาร์เข้าไปผนวกในกระบวนการทำธุรกิจแล้ว แต่ยังไม่สามารถแสดงผลให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม หรือยังต้องทำความเข้าใจกับคนในองค์กรและผู้นำองค์กรถึงความสำคัญและคุณค่า จากการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และคง เป็นธรรมเนียมประจำปี เมื่อเวลาเดินตามเข็มหมุนวนเข้าสู่ศักราชใหม่ การทบทวนถึงงานที่ผ่านมา และวางแผนงาน ในปีถัดไปในการดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด ซีเอสอาร์ของธุรกิจและคนในแวดวง ซีเอสอาร์ จึงเป็นหมุดหมายสำคัญเพื่อการก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมีคุณค่า ยั่งยืน และเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจได้อย่างสมดุล
สภาหอการค้าฯขับเคลื่อนซีเอสอาร์
"ชัยยุทธ์ ชำนาญเลิศกิจ" รองประธานกรรมการกิจกรรมเพื่อสังคม หอการค้าไทย กล่าวในงานสัมมนา "ปี 2554... CSR ไทย จะเดินต่อไปอย่างไรให้ยั่งยืน" ว่าประเด็นหลักในเรื่องการนำหลักคิดซีเอสอาร์ไปใช้ในปี 2554 นั้น หอการค้าไทยจะยึดตาม หลักการที่ระบุในมาตรฐาน ISO 26000 ซึ่งเป็นแนวทางในด้านการรับผิดชอบต่อสังคมที่เน้นเรื่อง "Social Engagement" คือการทำร่วมกัน จะไม่ทำแบบข้ามาคนเดียวเพราะอาจทำให้ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ
"ในปี 2554 การสนับสนุน ส่งเสริม และผลักดันแนวคิดเรื่องซีเอสอาร์ของหอการค้าไทย จึงมุ่งเน้นที่การทำงานร่วมกับหลาย ๆ ฝ่าย เป็นพันธมิตรร่วมกันกับเครือข่ายของสภาหอการค้าไทย โดยเฉพาะหอการค้าจังหวัดต่าง ๆ เพื่อกระจายแนวคิด การแลกเปลี่ยนความรู้ แนวปฏิบัติต่อกัน โดยเฉพาะกับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี" อีกทั้งใน มาตรฐาน ISO 26000 ยังได้เปลี่ยนจากคำว่า "CSR" มาใช้เพียงคำย่อ "SR" โดยตัดตัว "C-corporate" ออกไป เพื่อชี้ให้เห็นว่าแนวปฏิบัติตามมาตรฐาน ISO 26000 นั้น ไม่ได้ใช้เฉพาะกับองค์กรธุรกิจเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้กับองค์กร ทุกประเภท อย่างไรก็ตาม ชัยยุทธ์ชี้ให้เห็นแนวโน้มการนำมาตรฐาน ISO 26000 มาปรับใช้ในปี 2554 ว่า ถ้าเปรียบเทียบการนำมาตรฐานดังกล่าวมาปรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ ของบริษัทไทยในแถบอาเซียนนั้น ถือว่าองค์กรธุรกิจไทยมี แนวปฏิบัติเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับต้น ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในแถบอาเซียน
ขยายเครือข่าย "ธุรกิจรวยเพื่อน"
นอกจากนี้หอการค้าไทยยังมีแผน งานตามโครงการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม ในชื่อโครงการ "ธุรกิจรวยเพื่อน" (CSR-D) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 โครงการภายใต้ชุดโครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรด้วยยุทธศาสตร์การส่งเสริม ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR) ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชัยยุทธ์ระบุด้วยว่า ในปี 2554 หอการค้าไทยเน้นที่การกระจายความเข้าใจเรื่องนี้ออกไปในต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ เอสเอ็มอี ซึ่งที่ผ่านมาอาจมีความเข้าใจ ผิดในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีในเรื่องซีเอสอาร์อยู่ 2 เรื่องหลัก ๆ คือ 1) คิดว่าซีเอสอาร์เป็นเรื่องขององค์กรใหญ่ และ 2) คิดว่ามีสตางค์แล้วค่อยทำซีเอสอาร์ คือทำธุรกิจให้มั่นคง เติบโตแล้วค่อย กลับมาดูแลสังคม ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูก
"สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงตัว เสริม ไม่ใช่ตัวหลัก และสภาหอการค้าไทยจึงต้องทำหน้าที่กระจายความเข้าใจให้เอสเอ็มอีเข้าใจร่วม กัน โดยเน้นการทำซีเอสอาร์ที่กระบวนการ ทำงาน หรือ CSR in Process เช่น การดูแลพนักงาน การสร้างสถานที่ทำงานให้เป็นสุข โดยเฉพาะปัญหาใหญ่ของหลายอุตสาหกรรมตอนนี้คือเรื่องขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นการที่สถานประกอบการดูแลพนักงานด้วยการใช้แนวคิดเรื่องซีเอสอาร์เข้า ไปผนวกในการดำเนินธุรกิจก็น่าจะทำให้เกิดแรงจูงใจให้มีคนสนใจเข้ามาร่วมงาน กับบริษัทมากขึ้น" ชัยยุทธ์กล่าว ทั้งนี้โครงการธุรกิจรวยเพื่อน จะเริ่มดำเนินการในจังหวัดนำร่อง 3 แห่ง คือ เชียงใหม่ นครราชสีมา และนครปฐม แล้วขยายไปสู่การสร้างหน่อพันธุ์ซีเอสอาร์ในระดับภูมิภาคให้ได้ 100 องค์กร เพื่อสร้างเป็นเครือข่ายภายในปีแรกของโครงการ
เรื่องใหญ่สุดคือการสร้างพันธมิตร
"สุกิจ อุทินทุ" รองประธานซีเอสอาร์ คลับ และรองประธานด้านซีเอสอาร์ ไมเนอร์กรุ๊ป ระบุว่า เรื่องสำคัญในปี 2554 คือการสร้างพันธมิตร ซึ่งเริ่มเห็นมากขึ้น ตั้งแต่ปลายปี 2552 หลังจากมีบริษัท จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเพียง 5 บริษัทนั่งคุยกันเรื่องซีเอสอาร์ แล้วนำไปสู่การจัดตั้งซีเอสอาร์ คลับ บริษัทจดทะเบียนไทย ซึ่งปัจจุบันมีกรรมการมาจาก 28 บริษัท "ใน 1 ปีที่ผ่านมา เมื่อทำกิจกรรมร่วมกันก็มีคนเข้าร่วมจาก 100 บริษัทอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซีเอสอาร์ คลับ จัดงานสัมมนา CSR Thailand 2011 มีผู้เข้าร่วมกว่า 400 บริษัท จากบริษัทสมาชิก 500 แห่ง แสดงให้เห็นว่ามีคนสนใจเรื่องนี้มาก แต่สิ่งที่ท้าทายคือจะทำอย่างไรให้เราสามารถสร้างพันธมิตรในเชิงกลยุทธ์ คือไม่ใช่ว่าพากันปลูกต้นไม้ แต่กลายเป็นว่าป่าหาย หลายบริษัทสนับสนุนงานด้านการศึกษา แต่ทำไมการวัดผลคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กไทยกลับต่ำลงทุกปี" "ดัง นั้นในปี 2554 การทำงานร่วมกันอย่างเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์นั้นจะต้องเกิดขึ้น ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่มีกระแสการสร้างเครือข่ายเกิดขึ้นแล้ว ทั้งในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และการที่ไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศในกลุ่ม ผู้จัดตั้ง ASEAN CSR Networks" สุกิจกล่าว
ส่วนแนวโน้มที่สำคัญอีกเรื่อง ที่สุกิจหยิบ ยกมากล่าวถึงคือ การขยายแนวคิดเรื่องซีเอสอาร์เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) โดยเฉพาะการสร้างความรู้และนำแนวคิดเรื่องนี้เข้าไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ กลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นต้นทางของการผลิตในการแข่งขันในตลาดโลก "ในที่สุดผู้ซื้อในระดับโลกต้องมาถามแล้วว่า สินค้าที่ผลิตจากซัพพลายเออร์ต่าง ๆ นั้นได้มีแนวปฏิบัติในเรื่องซีเอสอาร์หรือความรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่"
แนวโน้มซีเอสอาร์ปี 2554
ด้าน "อาจารย์อนันตชัย ยูรประถม" ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน (SBDi) กล่าวในเวทีเดียวกันถึงแนวโน้มว่า ในปี 2554 ซีเอสอาร์จะถูกมองใหม่ โดยจะถูกมองว่าซีเอสอาร์นำไปสู่ความยั่งยืน มากขึ้น ถูกมองว่าเป็นแก่นสารที่สำคัญ เพราะปัจจุบันมีองค์กรต้นแบบหลายแห่งแล้ว ว่าจะทำซีเอสอาร์แบบไหน
แนวโน้มที่ 2 คือ หลังการประกาศใช้มาตรฐาน ISO 26000 จะมีการนำไปปฏิบัติที่จะบ่งชี้ว่า จะทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว แนวปฏิบัติตามมาตรฐานนี้จะบีบให้หลายบริษัทต้องเดินไปในเส้นทางนี้ เพื่อแข่งขันในตลาดโลกให้ได้
และแนวโน้มอีกเรื่อง คือ สถาบันการศึกษาจะมีบทบาทขับเคลื่อนเรื่องซีเอสอาร์ที่สำคัญมากขึ้น โดยปีที่ผ่านมาเริ่มมีหลายมหาวิทยาลัยปรับหลักสูตรโดยนำเรื่องแนวคิด ซีเอสอาร์เข้าไปสอนในบางรายวิชาแล้ว
ส่วนความท้าทายของซีเอสอาร์ใน ปีกระต่ายนี้ คือการจะทำอย่างไรให้ซีเอสอาร์เป็นวัฒนธรรมขององค์กร ให้เกิดการทำ ซีเอสอาร์เป็นงานประจำขององค์กร แต่ไม่ใช่ว่าแต่ละวันพนักงานขององค์กรจะมานั่งคอยว่าวันนี้จะไปบริจาคอะไร ที่ไหนเท่านั้น แต่หมายถึงทุกครั้งที่ทำงานหรือพัฒนาธุรกิจ ทุกคนในองค์กรจะต้องคิดถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในงานที่ตนทำอยู่ ดังนั้นการเริ่มจากหน่วยเล็กจากแต่ละคนในองค์กร สร้างเป็นวัฒนธรรมองค์กร จึงเป็นเรื่องท้าทายมากในปีที่จะถึงนี้
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ