ในภาวะปัจจุบันหลายหน่วยงานต่างก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ บ้างก็ต้องลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงาน หรือบางบริษัทก็ขาดทุนถึงขั้นที่ต้องปิดกิจการ ส่งผลให้ลูกจ้างจำนวนมากต้อง ตกงาน โดย ไม่รู้เนื้อรู้ตัวในภาวะเช่นนี้การส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์จึงเป็นสิ่งที่นายจ้างพึงกระทำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหรือข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์ของบริษัทยิ่งเลวร้ายลงไปอีก คุณเชื่อหรือไม่ว่าการส่งเสริมเแรงงานสัมพันธ์สามารถช่วยบริษัทฝ่าวิกฤติไปได้
- อย่าคิดว่าการแก้ไขปัญหาเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารเท่า นั้น ลูกจ้างควรได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพและผลประกอบการเป็นระยะ ตามสภาพความเป็นจริง เท่าที่สามารถเปิดเผยแก่ฝ่ายลูกจ้างได้ เพื่อที่ว่าฝ่ายลูกจ้างจะได้ช่วยเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาในส่วนที่ลูกจ้าง แต่ละฝ่าย แต่ละแผนกรับผิดชอบอยู่ได้
- หากบริษัทของคุณกำลังประสบปัญหาอันเนื่องจาก ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ควรจัดให้ผู้แทนนายจ้างกับผู้แทนลูกจ้างได้มีโอกาสหารือ และร่วมกันดำเนินการทุกวิธีในการประหยัดค่าใช้จ่ายเท่าที่สามารถทำได้ เพื่อประคับประคองให้บริษัทสามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไม่มีการเลิกจ้างหรือ ปิดกิจการ
- เมื่อจำเป็นต้องมีการลดค่าใช้จ่ายที่มีผล กระทบต่อลูกจ้าง ฝ่าย นายจ้าง และฝ่าย ลูกจ้าง ควรปรึกษาหารือหรือเจรจากัน ทั้งสองฝ่าย และพิจารณาลดค่าใช้จ่ายที่มีผลกระทบต่อลูกจ้างน้อยที่สุดก่อน
- การจะลดค่าใช้จ่ายใด ๆ นั้น ควรเกิดจากความยินยอมพร้อมใจ และการยอมรับของลูกจ้างส่วนใหญ่ในบริษัทเป็นหลัก โดยนายจ้างควรพยายามหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจทาง การบริหารเพื่อกดดันให้ลูกจ้าง ยอมรับ
- ในส่วนของลูกจ้างเอง ควรตระหนักถึงภาวะวิกฤติและผลกระทบที่ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างจะได้รับ โดยลูกจ้างควรให้ความร่วมมือในการลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งควร หลีกเลี่ยงการชุมนุมเผชิญหน้าด้วยความรุนแรง หรือการใช้สิทธิโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของบุคคลอื่น
- ในกรณีที่การเจรจาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่เป็นผล หรือการร่วมปรึกษาหารือไม่อาจบรรลุข้อยุติ ทั้งสองฝ่ายควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่แรงงานทราบทันที เพื่อเข้าหารือและเสนอแนวทางในการยุติปัญหาโดยเร็วที่สุด
- ในการเข้าแก้ไขปัญหาระหว่างนายจ้างกับ ลูกจ้างนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องวางตัวเป็นกลาง และมีความยืดหยุ่น เพื่อหาแนวทางยุติปัญหาบนพื้นฐานความถูกต้องและเป็นธรรม
- ผู้นำฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายนายจ้าง ควรมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งและข้อพิพาท แรงงาน โดยยึดแนวทางเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตามควรอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกันทั้งสองฝ่าย เพราะทุกคนเปรียบเสมือนอยู่ในเรือลำเดียวกัน ถ้าเกิดปัญหาเรือรั่ว ทุกฝ่ายก็จะต้องร่วมมือกัน ส่วนหนึ่งพายเรือ ส่วนหนึ่งวิดน้ำออกจากเรือ ช่วยกันประคับประคองเรือ เพื่อให้ทุกคนไปถึงฝั่งโดยสวัสดิภาพ
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
บริหารคนแบบไหน ช่วยให้รอดวิกฤติเศรษฐกิจ
6 หนทางหางานฝ่าวิกฤติ