เคยเป็นไหม ... เมื่อมีงานเร่งด่วนเข้ามาเรื่อย ๆ เราก็มักจะก้มหน้าก้มตา รับภาระความรับผิดชอบต่องานเหล่านั้น โดยไม่ปริปากบ่นโวยวาย และมุ่งมั่นตั้งใจทำงานให้สำเร็จไปงานแล้วงานเล่า โปรเจกต์ต่อโปรเจกต์ ทั้งที่แสนจะเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าทั้งกายและใจ ภายใต้สถานการณ์ที่บีบคั้นกดดัน และมีเงื่อนไขเวลาที่รีบเร่งเป็นตัวกำหนดอยู่เสมอ
jobsdb ชวนคนทำงานทุกคนให้หยุดพักสักครู่ แล้วหันมาสังเกตตัวเอง ว่าเริ่มมีพฤติกรรมการทำงานเหล่านี้กันบ้างหรือไม่
- คุณชอบทำงานแบบ Multitasking ทำหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน เช่น เช็กอีเมลไปพร้อม ๆ กับคุยงานทางโทรศัพท์ แล้วดื่มกาแฟไปด้วย หรือรับประทานมื้อเช้า/มื้อกลางวันที่โต๊ะทำงานไปพร้อม ๆ กับปั่นงานด่วน เป็นต้น
- คุณต้องเร่งทำงานให้เร็วขึ้น จนต้องทำอย่างลวก ๆ อยู่บ่อยครั้ง
- คุณรู้ตัวว่ามีความสามารถ แต่ทำงานออกมาได้ไม่ดีนัก
- คุณมีอาการเครียดและวิตกกังวลเกี่ยวกับงานและเรื่องส่วนตัวอยู่ตลอดเวลา
- คุณมีงานยุ่งทั้งวัน แต่กลับงานไม่ค่อยเสร็จ ใช้เวลาในการทำงานนาน แต่ผลงานที่ออกมากลับมีนิดเดียว
- คุณแบ่งเวลาไม่ได้อีกต่อไป ไม่รู้จะทำชิ้นไหนก่อน-หลัง มีปัญหาอยู่กับการจัดระบบงานต่าง ๆ อยู่เสมอ
- คุณมักมีอารมณ์แปรปรวน ทำงานร่วมกับผู้อื่นไม่ได้ หงุดหงิด ใจร้อน และไม่ค่อยอดทน
- คุณไม่มีสมาธิ จิตใจวอกแวก ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานใดงานหนึ่งได้นาน
- คุณวุ่นวายอยู่กับความคิดสารพัดอย่างอยู่ภายในหัว แต่ไม่แสดงออกให้ใครเห็น
- คุณขาดความรู้สึกอยากทำงานที่ดี เฉื่อยชา และเริ่มทำงานพลาดบ่อยครั้ง
- ความคิดสร้างสรรค์ของคุณหายไป ไม่กระตือรือร้น
- คุณเริ่มไม่ดูแลตัวเอง ละเลยการดูแลสุขภาพ และไม่สนใจที่จะทำให้สุขภาพดีขึ้น
เช็กตัวเองกันดูแล้ว โดนเข้าไปกันคนละกี่ข้อคะ หากเข้าข่ายพฤติกรรมต่อไปนี้ รู้หรือไม่ว่าอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคใกล้ตัวคนทำงานทุกคนอีกหนึ่งโรค นั่นก็คือโรคสมาธิสั้นในคนทำงาน (Attention Deficit Trait: ADT)
ทำความรู้จักกับ ADT
โรคสมาธิสั้นในคนทำงาน หรือ ADT มีลักษณะอาการคล้ายกับคนสมาธิสั้น แต่มีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ดีเป็นหลัก แทนที่จะเป็นสาเหตุจากพันธุกรรมเหมือนคนสมาธิสั้นทั่ว ๆ ไป สภาพแวดล้อมที่เป็นตัวการของโรคนี้เกิดจากลักษณะการทำงานในปัจจุบันที่มีความรีบเร่งอยู่เสมอ ต้องแข่งขันกับเวลาอยู่ตลอด คนทำงานจะมีความรู้สึกว่ามีงานด่วนหรือสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทำเข้ามาเรื่อย ๆ จนต้องพยายามจัดการกับงานด่วนเหล่านั้นให้สำเร็จ ทั้ง ๆ ที่กำลังความสามารถและเวลาของเราไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณงานที่เข้ามา ดังนั้น เมื่อเจอกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน คนทำงานก็มักจะอยู่ในอาการของความรีบร้อนตลอดเวลา จึงพยายามทำงานให้เสร็จโดยเร็ว ทำให้ต้องทำงานหลาย ๆ อย่างไปพร้อม ๆ กัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ สมองก็จะตอบสนองต่อการทำงานที่เร่งรีบ และเริ่มละเลยประสิทธิภาพของงานไปโดยปริยาย ทำให้สมองเราสูญเสียความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และทำงานได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ส่งผลให้งานที่ออกมาเป็นงานที่เร็วแต่ไม่ลงลึก ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง นอกจากนี้การที่สมองของเราต้องวิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ความสามารถในการคิดหรือแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ก็จะลดลง สวนทางกับความผิดพลาดในการทำงานที่กลับเพิ่มมากขึ้น ต้องแก้งานไม่จบไม่สิ้น จนสุดท้ายก็จะรู้สึกเหนื่อย รู้สึกทนไม่ไหวอีกต่อไป และอยากหนีไปจากงานที่ทำอยู่ เมื่อเกิดวงจรการทำงานที่ไม่ดีเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ความฉลาดและอารมณ์ของเราก็จะถูกบั่นทอนไปเรื่อย ๆ เมื่อรู้ตัวอีกที ความสามารถและสติปัญญาก็ถอยหลัง กลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิตต่อไป นอกจากส่งผลต่อสมองและจิตใจแล้ว อาการ ADT ยังส่งผลต่อเนื่องกับทุกระบบในร่างกายกันไปเป็นลูกโซ่ ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคปวดตามข้อ โรคเบาหวาน เป็นต้น
ใส่ใจ แก้ไข ปรับพฤติกรรม ADT ได้อย่างไร
หากไม่อยากจิตตก จนต้องตกเป็นป่วยโรค ADT กันแล้วละก็ จะต้องแก้ไขอย่างไร ... บอกเลยว่าไม่ยาก เราสามารถทำได้ในทุกวันของการทำงานกันอยู่แล้ว
- ยอมรับความจริงกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่
- ให้เวลากับตัวเองบ้าง ต้องมีเวลาเผื่อสำรองไว้สำหรับการทำงานแต่ละครั้ง เพื่อให้ได้หยุดคิดและทบทวนก่อนเริ่มงานใหม่
- ตั้งสติ นับหนึ่งใหม่ เริ่มจัดลำดับความสำคัญทั้งหมด
- แบ่งงานที่มีเนื้องานปริมาณมาก ย่อยให้เล็กลง แล้วทำสิ่งที่ง่ายก่อน จะได้มีกำลังใจในการทำงาน รวมไปถึงรู้จักกระจายงานและข้อมูลที่จำเป็นให้เพื่อนร่วมงานในทีมเดียวกัน
- หากทำงานแล้วติดขัด ให้กลับไปทำส่วนที่ง่าย ๆ ให้สำเร็จก่อน เพื่อช่วยเคลียร์งานให้เร็วขึ้นได้ รู้สึกภูมิใจที่งานสำเร็จไปอีกขั้น แล้วค่อยกลับมาที่งานค้างอีกครั้ง
- ตั้งค่าโทรศัพท์ หยุดการตั้งเตือนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ปิดเสียงโทรศัพท์ เพื่อสร้างสมาธิในช่วงที่ต้องเร่งทำงาน
- ถ้าหากรู้สึกว่างานเยอะหรือเริ่มเครียด ให้หยุดทำงานชั่วคราว เปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นชั่วคราว ใช้เวลาพักสั้น ๆ เพื่อเคลียร์สมองและผ่อนคลายจิตใจเป็นช่วง ๆ
- ทักทายผู้คนรอบข้างอย่างเป็นมิตร อย่าเก็บตัวมากเกินไป
- หาเพื่อนสนิทเพื่อผ่อนคลายความเครียด ไว้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ
- ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับให้เต็มอิ่ม
- ดูแลตัวเอง ใส่ใจเรื่องโภชนาการที่ดี รับประทานอาหารให้เป็นเวลา และไม่ควรรับประทานอาหารแบบรีบร้อนเกินไป
- หมั่นออกกำลังกายทุกวันหรือวันเว้นวัน ครั้งละ 30 นาที รีเฟรชร่างกายให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่า ให้ร่างกายได้หลั่งสาร Endorphin ทำให้สมองปลอดโปร่งแจ่มใส พร้อมกับการทำงานได้ต่อไป
- สร้างบรรยากาศที่ดีในที่ทำงาน จัดห้องทำงาน โต๊ะทำงาน และเอกสารต่าง ๆ ให้เรียบร้อย สะอาด เป็นระเบียบ สบายตา
การป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรค ADT ก็เป็นวิธีการทั่ว ๆ ไปที่ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่เรามักจะไม่ได้ทำ หรือทำ ๆ หยุด ๆ ไม่สม่ำเสมอ อย่าลืมว่า ... ทำงานที่รักแล้วก็ต้องรักตัวเองด้วยเช่นกัน จะได้มีพลังในการทำงานต่อไปได้อีกยาวนาน และมีความสุขกับการทำงานอย่างที่ทุกคนปรารถนา jobsdb ขอเป็นกำลังใจให้คนทำงานทุกคน
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ