Teamwork เป็นหัวใจสำคัญของการทำงานในองค์กร และสิ่งที่จะนำพา Teamwork ให้ไปสู่ความสำเร็จได้ ก็คือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ทำอย่างไรให้ การสื่อสารในทีม สามารถสอดประสานเชื่อมโยง สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทีมได้ จนกลายเป็นทีมที่ “เวิร์ก” อย่างแท้จริง jobsDB มีคำพูดง่าย ๆ ที่คนทำงานทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกวันของการทำงาน
1. คำว่า “เรา”เป็นคำสรรพนามง่าย ๆ ที่แสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของตัวผู้พูดกับเพื่อนร่วมทีม เน้นย้ำว่าเราคือทีมเดียวกัน แม้จะมีบทบาทหน้าที่หรือความสามารถที่แตกต่างกัน แต่คำว่า “เรา” นี่แหละที่จะเชื่อมทีมไว้ด้วยกัน ไม่มีใครโดดเดี่ยวลำพัง และต้องก้าวเดินไปพร้อมกัน...สู่จุดหมายเดียวกัน
2. ขอบคุณคำพูดที่ควรเป็นคำติดปากไม่ว่าจะในการทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อมีใครทำอะไรให้เราแม้เพียงเล็กน้อย สิ่งที่ไม่ควรขาดก็คือคำว่า “ขอบคุณ” เพราะคำพูดง่าย ๆ วลีสั้น ๆ นี้ทำให้ผู้รับคำขอบคุณรู้สึกมีความสุขกับการให้ และมีกำลังใจในการทำดีต่อกัน พลังของคำพูดดี ๆ ที่มาจากใจจริง สามารถส่งต่อความสุข และรักษามิตรภาพไว้ได้เสมอ
3. ขอแรงหน่อยคนที่อยู่ร่วมกันย่อมต้องพึ่งพา ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่เสมอ ตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ เพราะหลาย ๆ เรื่องเราไม่อาจทำได้โดยลำพังตัวคนเดียว การจะขอความช่วยเหลือจากเพื่อนในทีมนั้น จึงต้องสื่อสารอย่างมีศิลปะ เพื่อให้เพื่อนร่วมทีมได้รับรู้ว่าตัวเราต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ นอกจากนี้คำพูดขอความช่วยเหลือยังแสดงให้เห็นว่าตัวเราให้ความสำคัญและความไว้วางใจอีกฝ่ายมากเพียงใด
4. คิดเห็นอย่างไรการทำงานเป็นทีมย่อมต้องมีพูดคุย ระดมสมอง ร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยกันเป็นปกติ เมื่อต้องพูดคุยกัน ให้ละทิ้ง ego ละวางตัวตน ไม่ยึดความคิดเห็นของตัวเองเป็นใหญ่ รับฟังเพื่อนร่วมทีม ให้โอกาสทุกคนได้แสดงความเห็น ด้วยคำพูด “คุณคิดอย่างไร ?” เพราะทุกความคิดเห็นอาจเป็นตัวแปรไปสู่ความสำเร็จของทีมได้ ดังนั้นควรร่วมกันแชร์ แบ่งปันความคิดเห็นกับผู้อื่น และหาข้อสรุปที่มาจากความคิดเห็นอันหลากหลายของสมาชิกในทีมอยู่เสมอ
5. ทำได้ดีคำชื่นชมเล็ก ๆ น้อย ๆ ดีต่อใจสำหรับทุกคน เป็นคำที่มีความหมายยิ่งใหญ่ สร้างความรู้สึกที่ดีให้ผู้ได้-ยินทุกครั้ง การยกย่องความดีของผู้อื่นโดยเฉพาะเพื่อนร่วมทีมจึงเป็นสิ่งควรปฏิบัติเป็นประจำ เพื่อเสริมแรงสร้างกำลังใจให้ทุกคนตั้งใจทำงานให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป นอกจากการชื่นชมกันแล้ว ก็ต้อง balance ด้านตรงข้ามให้สมดุลกัน การตำหนิก็เป็นเรื่องที่ต้อง feedback ด้วยเช่นกัน โดยเน้นการติเพื่อก่อ ติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขในเชิงสร้างสรรค์ พร้อมทั้งช่วยกันแนะนำวิธีปรับปรุงแก้ไขไปด้วยทุกครั้งในลักษณะเหมือนพี่เตือนน้อง เพื่อนเตือนเพื่อน เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อไปได้
6. ผิดไปแล้วการทำผิดแล้วยอมรับผิดเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมในความซื่อสัตย์และความกล้าหาญ ที่กล้าพูดในสิ่งที่ตนเองได้ทำผิดพลาดไป เป็นวิธีแสดงความรับผิดชอบในเบื้องต้น ก่อนจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในลำดับต่อไป คำพูดนี้ช่วยลดความขัดแย้งภายในทีมและลดระดับความถือดีภายในตัวเราได้อย่างมาก การทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด แม้ว่าจะดึงดันจนได้เป็นฝ่ายถูกในที่สุด แต่ผลที่ตามมาก็คือความรู้สึกที่เรียกกลับคืนมาไม่ได้ มิตรภาพที่แตกร้าว และความสามัคคีที่ลดน้อยลง จำไว้ว่าคนเราเกิดมาไม่เคยมีใครไม่ทำอะไรผิดพลาด เป็นเรื่องธรรมดาของโลก และความผิดบางอย่างเมื่อเวลาผ่านไปก็กลายเป็นแค่เรื่องเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ว่าความผิดจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ทีมควรทำคือร่วมมือกันหาทางแก้ไข นี่คือทางออกที่ดีที่สุด
7. เปลี่ยนวิธีพูด ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างสถานการณ์บางอย่างแค่เลือกใช้วิธีพูดที่ต่างออกไปอาจให้ผลลัพธ์ต่างกันอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น เมื่อมีสมาชิกในทีมมาสาย หากเผลอพูดทีเล่นทีจริงออกไปว่า“มาสายเพราะเมื่อคืนไปเที่ยวดึกล่ะสิ”บางครั้งผู้พูดอาจพูดโดยไม่ได้คิดอะไรมาก แต่หารู้ไม่ว่าประโยคดังกล่าวฟังคล้าย ๆ กับการก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว ให้ความรู้สึกเหมือนจ้องจับผิด และอาจทำลายความเชื่อใจซึ่งกันและกันระหว่างคนในทีมได้
แทนที่จะพูดแบบนั้นให้ลองเปลี่ยนเป็น“เราไม่ค่อยสบายใจที่เธอมาสาย เพราะกระทบกับการทำงานของทีม หากคราวหน้ามาให้ตรงเวลากว่านี้จะช่วยทีมได้มาก ๆ เลย”เพื่อชี้ให้เพื่อนร่วมทีมเห็นว่าสิ่งที่เขาทำมีผลอย่างไร และเขาก็ไม่สามารถโกรธผู้พูดได้ เนื่องจากเป็นความจริงที่ตัวเขาต้องยอมรับและปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น
ทักษะที่ดีในการสื่อสารก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทีมและส่งเสริมการทำงานของเราให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น นอกจากเก่งในงานที่รับผิดชอบ เรายังต้องเก่งในการเป็นสมาชิกที่ดีของทีมและองค์กร เพียงใช้คำพูดง่าย ๆ ที่ควรปฏิบัติเป็นประจำสม่ำเสมอ และเลือกใช้คำพูดในเชิงสร้างสรรค์ jobsDB รับรองว่าเป็นที่รักของเพื่อนร่วมงาน ของทีม และขององค์กรได้อย่างแน่นอน
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทำงานเป็นทีม ตามพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๙