“วันสัมภาษณ์งาน สำหรับน้อง ๆ ที่เพิ่งจบการศึกษา ออกจากรั้วมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ คงเป็นเหมือนวันที่ต้องขึ้นศาลไต่สวน วันพิพากษาชี้ชะตาว่าจะไปซ้าย หรือขวาดี จะบังคับให้ตัวเองไม่ตื่นเต้นไม่ประหม่าเลย ก็คงเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน โดยวิธีกำจัดความตื่นเต้นที่ดีที่สุดคือการเตรียมตัวที่ดี”
คุณนพวรรณ จุลกนิษฐกรรมการผู้จัดการบริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัดได้แนะนำวิธีเรียกคะแนนจาก HR ผู้สัมภาษณ์ให้ได้มากที่สุดขณะที่ สัมภาษณ์งาน ดังนี้ค่ะ
1. ประสบการณ์ในการ ฝึกงาน – กิจกรรมระหว่างเรียน
“อันดับต้น ๆ ที่HR ให้ความสำคัญถึง 75% เป็นเรื่องประสบการณ์ในการฝึกงาน”สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ HR จะเทคะแนนให้ เพราะเด็กจบใหม่เป็นช่วงชีวิตที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการทำงานจริง ๆ และสิ่งเดียวที่ทดแทนจุดนี้ได้ก็คือกิจกรรมระหว่างที่เป็นนักศึกษา และการฝึกงานที่ใกล้เคียงการทำงานมากที่สุด เสมือนการซ้อมใหญ่ก่อนลงสนามการทำงานจริง ๆ
2. ความคิด – ทัศนคติ
“ความคิด หรือ ทัศนคติเชิงบวก ทั้งกับงาน และองค์กร ก็เป็นเรื่องที่ผู้หางานควรมีอย่างยิ่งค่ะ”แม้ความคิด และทัศนคติจะเป็นเรื่องนามธรรม แต่ HR ผู้สัมภาษณ์ก็สามารถให้คะแนนในจุดนี้จากการสัมภาษณ์งาน โดยอาจถามจากเหตุการณ์สมมุติต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจริงในชีวิตการทำงาน แล้วจึงวิเคราะห์จากคำตอบที่ได้มาว่าผู้ถูกสัมภาษณ์มีทัศนคติอย่างไร เพราะสิ่งที่ HR มองหาก็คือบุคคลที่มีทัศนคติเชิงบวก ทั้งกับงาน และกับองค์กร เช่น คำถามที่เกี่ยวกับองค์กรเก่า เหตุผลที่ลาออกจากที่ทำงานเก่า ไม่ว่าคุณจะผ่านช่วงเวลาที่ไม่สู้ดีเท่าไหร่นัก การหาแง่บวกจากสิ่งเหล่านั้น ก็จะสามารถทำให้คุณได้คะแนนจากส่วนนี้ได้
3. บุคลิกภาพ - การแต่งกาย การนำเสนอ มารยาท
“คุณควรใส่ใจเรื่องบุคลิกภาพ การแต่งกาย การนำเสนอ และมารยาทในขณะสัมภาษณ์งาน”เพราะการแต่งกายเป็นภาพแรกที่ HR จะเห็นคุณ และเริ่มให้คะแนนตั้งแต่นาทีนั้น นอกจากเป็นการให้เกียรติสถานที่ และผู้สัมภาษณ์แล้ว ยังแสดงถึงการเตรียมพร้อมของผู้มาสัมภาษณ์ ส่วนเรื่องการนำเสนอนั้นหากมี portfolio ก็อาจทำเป็นรูปเล่ม หรือใส่ใน i-pad เพื่อการนำเสนอที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ว่าจะนำเสนอได้ล้ำขนาดไหน เรื่องของมารยาทแบบไทยนั้นก็เป็นหนึ่งในเรื่องของบุคลิกภาพที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน และเทคนิคอย่างหนึ่งที่ HR ใช้กับผู้สัมภาษณ์คือการให้ผู้สัมภาษณ์ “นั่งรอ” เพื่อจะดูปฏิกิริยา วัดความอดทน การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ฯ
4. ทักษะพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่สมัคร - ภาษา คอมพิวเตอร์
“ทักษะด้านภาษา และทักษะเฉพาะตามสายอาชีพ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่HRมองหา”ทักษะทั่วไปที่องค์กรในปัจจุบันต้องการนั้นคงหนีไม่พ้น 2 ทักษะหลัก ๆ คือภาษา และคอมพิวเตอร์ เนื่องจากในยุคปัจจุบันนั้นองค์กรมีความจำเป็นต้องร่วมงานกับบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ เรื่องของภาษาที่ 2 อย่างภาษาอังกฤษ หรือภาษาที่ 3 อย่าง ภาษาญี่ปุ่น หรือภาษาจีน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ส่วนทักษะที่ 2 คือทักษะเรื่องคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมต่าง ๆ เพราะเทคโนโลยีนั้นได้เข้ามามีส่วนช่วยให้การทำงานนั้นงาน สะดวก และมีระบบมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรที่ทักษะด้านนี้ ในองค์กร ซึ่งหมายรวมถึงทักษะเฉพาะตามสายอาชีพด้วย เช่น ตำแหน่งกราฟฟิกดีไซเนอร์ ก็ควรที่จะมีความสามารถในการใช้โปรแกรม AI PS AUTOCAD หรือ 3D Max เป็นต้น
5. ความพร้อมในการสัมภาษณ์
“ความพร้อมในการสัมภาษณ์งานก็ไม่ควรมองข้ามค่ะ อย่างเรื่องการศึกษาข้อมูลขององค์กรเบื้องต้น”นอกจากเรื่องบุคลิกภาพ ซึ่งแสดงถึงการเตรียมพร้อมแล้ว การศึกษาข้อมูลขององค์กรในเบื้องต้นก่อนการมาสัมภาษณ์ก็เป็นหนึ่งในการแสดงออกถึงความเตรียมพร้อมของผู้มาสัมภาษณ์ ซึ่งปัจจุบันข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ไม่ยาก เพียงแค่ค้นหาใน internet รวมทั้งการหา keyword ที่สำคัญของตำแหน่งงานที่ไปสัมภาษณ์ด้วย เพียงแค่ทำการบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนไปสัมภาษณ์ รับรองได้เลยว่า HR ผู้สัมภาษณ์จะพร้อมใจกันเทคะแนนให้อย่างแน่นอน
โบราณว่ารู้เขารู้เรารบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง การสัมภาษณ์งานก็เช่นเดียวกัน หากทราบว่าฝ่ายสัมภาษณ์จะให้คะแนนเรื่องอะไรบ้าง เราก็เตรียมตัวให้หนักในเรื่องนั้น ๆ เน้นให้ถูกจุด โดยเฉพาะ 5 ข้อที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น น้อง ๆ ก็จะสามารถผ่านวันสำคัญในชีวิตวันหนึ่งไปได้อย่างไม่ลำบากมากนัก เพราะ HR ผู้คัดเลือกก็จะพร้อมเทคะแนนให้น้อง ๆ อย่างแน่นอน
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ