ถ้าคุณเลือกสมัครอยู่แค่งานที่คุณมีคุณสมบัติครบเท่านั้น อาจทำให้เสียโอกาสได้งานที่ดีไปก็ได้ ยกเว้น พวกงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อย่างงานด้านสุขภาพ, งานวิทยาศาสตร์ และงานด้านกฎหมาย เพราะความจริงแล้ว ถ้าไม่ใช่งานที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะด้านอย่างงานพวกนั้น ส่วนมากแล้วเราจะมีทักษะกว้างกว่าที่คิดไว้ซะอีก อย่างพวกทักษะการนำเสนองาน, ทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือทักษะการพูกในที่สาธารณะ เป็นต้น พวกนี้เป็นทักษะที่สามารถปรับใช้ให้เข้ากับการทำงานต่าง ๆ ได้ เป็นทักษะที่มีอยู่แล้วตัวทุกคน อยู่ที่ว่าใครจะดึงทักษะพวกนี้ออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับการทำงานได้มากกว่ากันเท่านั้นเอง
เป็นหน้าที่ของผู้สมัครงานเช่นคุณ ที่จะแสดงให้บริษัทที่คุณจะสมัครงานด้วยเห็นว่า คุณควรค่ากับการร่วมงานด้วยกับบริษัทเขามากแค่ไหน และนำเสนอทักษะและความสามารถของคุณให้น่าสนใจแค่คุณ “มีคุณสมบัติไม่ถึง” ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่มีสิทธิ์ได้งาน jobsDB มีวิธีทำให้มีสิทธิ์ได้งาน ทั้ง ๆ ที่คุณสมบัติไม่ถึงมาแนะนำค่ะ
1. พยายามขายทักษะและประสบการณ์ที่คุณมี ให้สอดคล้องกับงานที่จะสมัคร
ทักษะและประสบการณ์ที่คุณต้องมีในการสมัครงาน ไม่จำเป็นต้องได้มาจากการทำงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานนั้น ๆ เสมอไป แต่อาจมาจากกิจกรรมนอกเวลาที่ทำตอนเรียน, การทำงานเป็นอาสาสมัคร, การฝึกงาน หรือแม้แต่การทำงาน Part-time ก็ได้ จากงานสำรวจในปี 2016 ของบริษัท Deloitte พบว่า ประสบการณ์ที่ได้จากงานอาสาสมัครอาจมีบทบาทสำคัญในการสร้างเสริมทักษะความเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นทักษะที่ผู้นำที่ประสบความสำเร็จหลายคน “ต้องมี” จากผลสำรวจยังช่วยยืนยันความคิดที่ว่าการใส่ประสบการณ์การทำงานเป็นจิตอาสาในเรซูเม่ยังจะช่วยดึงดูดให้นายจ้างสนใจในตัวคุณมากขึ้นอีกด้วย
ประเด็นคือ อย่าจำกัดตัวเอง ว่างานไหนที่มีคุณสมบัติไม่ถึง คุณสมบัติไม่ครบ หรือไม่สอดคล้องก็ปล่อยผ่านไป ไม่ลองสมัครดู คุณควรมองภาพรวมก่อนว่าคุณสมบัติที่ต้องการในประกาศงานจริง ๆ แล้วต้องการอะไรเป็นสำคัญ และคุณมีมันหรือไม่มี ถ้ามีก็ลุยได้เลย พยายามขายทักษะและประสบการณ์ที่คุณมี ให้สอดคล้องกับงานที่จะสมัครที่สุด รับรองว่าคุณก็มีสิทธิ์ได้งาน
2. ทำยังไงก็ได้ให้ผู้ประกอบการเห็นว่าคุณอยากร่วมงานด้วยจริง ๆ
ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองยังขาดประสบการณ์และทักษะทางเทคนิคสำหรับงานนั้น ๆ อยู่ คุณสามารถแสดงความกระตือรือร้นและแพสชั่นของคุณผ่านการสร้างสรรค์เรซูเม่สุดครีเอทีฟได้ด้วยเหมือนกัน มีตัวอย่างเคสนึงที่ไอเดียดี คือ Nina Mufleh ต้องการสมัครงานกับ Airbnb เธอได้แนบรายงานเกี่ยวการตลาดการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงการวิเคราะห์ความท้าทายและโอกาสของ Airbnb ในการขยายสาขา ไปกับการสมัครงานของเธอด้วย นอกจากที่เธอค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียดแล้ว เธอยังออกแบบและทำเว็บไซต์ที่ใช้ในการสมัครงานและใส่ข้อมูลรายงานต่าง ๆ นั้นขึ้นมาอย่างสวยงาม ทำให้ผู้ประกอบการเห็นว่าเธออยากร่วมงานด้วยกับ Airbnb จริง ๆ
3. มีภาพลักษณ์ตัวตนในโลกออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ
เรซูเม่ของคุณอาจจะสะดุดตาทำให้ว่าที่นายจ้างคุณเกือบจะเลือกคุณแล้ว แต่เชื่อเถอะว่าเกือบ 100% พวกเขาต้องลองเอาชื่อของคุณไปเสิร์ชหาข้อมูลเพิ่มเติมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้แน่ ๆ อย่างน้อยเพื่อความสบายใจก่อนที่จะเรียกคุณเข้าไปสัมภาษณ์งาน แต่บางคนที่ไม่ค่อยมีข้อมูลของตัวเองอยู่ในโลกออนไลน์หรือโซเชี่ยลมีเดีย ก็อย่าเพิ่งคิดว่าจะรอดตัวนะคะ เขาอาจมองว่าคุณเป็นคนโลว์เทคและล้าสมัยไปซะอย่างนั้นเลยนะคะ
อีกแง่หนึ่ง หากคุณเปิดเผยตัวตนของคุณมากเกินไปหรือชอบโพสท์ทุกอย่างที่ควรจะเป็นเรื่องส่วนตัวของคุณอยู่ตลอดเวลาก็อาจไม่เป็นที่ปลื้มปริ่มของนายจ้างบางแห่งเช่นกัน จะเป็นการดีที่สุดที่คุณจะรู้จักการวางตัวให้เป็นในโลกออนไลน์ รู้กาละเทศะและอะไรควรไม่ควรในการโพสท์เรื่องราวต่าง ๆ เพื่อให้ดูเป็นคนที่น่าเชื่อถือและอยู่เป็นในโลกของการทำงาน วิธีที่ง่ายที่สุดที่คุณสามารถทำได้คือการสร้างเว็บไซต์หรือบล็อกส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับการทำงานหรือผลงานที่ผ่านมาของคุณโดยเฉพาะ ซึ่งคุณสามารถใช้เว็บไซต์หรือบล็อกนี้แทนเรซูเม่ได้เลยในยุคนี้ แต่ถ้าคุณสร้างเว็บไซต์เองไม่เป็น เดี๋ยวนี้เค้าก็มีแบบสำเร็จรูปให้เลือกใช้กันแบบง่าย ๆ อยู่ค่ะ
4. มองว่าโอกาสนี้เป็นความท้าทายของคุณ
อย่างที่ได้บอกอยู่บ่อย ๆ ว่า การมองภาพรวมหรือมองภาพใหญ่นั้นเป็นเรื่องสำคัญ อย่างในกรณีที่คุณมีคุณสมบัติไม่ถึงนี้ การพยายามขายความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาตัวเองเป็นเรื่องสำคัญกว่าความสามารถที่คุณมีในปัจจุบัน ผู้ประกอบการที่มีความคิดก้าวหน้าจะเปิดใจมากพอที่จะเห็นคุณค่าข้อนั้นในตัวคุณ แทนที่จะจ้างคนที่มีประสบการณ์ที่ทำงานแบบเดิม ๆ มาแล้ว 5 ปี ซึ่งอาจจะหมดไฟและไม่มีแรงบันดาลใจแล้วก็เป็นได้ อยากให้คุณโฟกัสไปที่ความกระตือรือร้น หมั่นฝึกฝนทักษะต่าง ๆ รักษาประวัติการทำงานให้ดี และมีจรรยาบรรณในอาชีพเพื่อแสดงมุมมองใหม่ ๆ ที่คุณจะสามารถนำเข้ามาสู่ทีมได้
ถ้าคุณกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนงาน ทำไมคุณไม่ลองใช้โอกาสนี้ในการก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซนและตั้งเป้าหมายให้สูงขึ้นดูล่ะคะ เหมือนที่บทความของ Fast Company ได้กล่าวไว้ว่า “กฎข้อแรกของการเติบโตในอาชีพคือ ถ้าคุณสมัครงานในตำแหน่งที่คุณมีคุณสมบัติครบถ้วนแล้วล่ะก็ เป้าหมายที่คุณตั้งมันก็อาจจะดูต่ำไป ให้มองว่างานใหม่เป็นโอกาสในการเติบโตในอาชีพได้ ซึ่งเรื่องนี้ผู้ประกอบการรู้ดีอยู่แล้ว ผู้ประกอบการไม่ต้องการจ้างคนที่มีความสามารถเพรียบพร้อมมาตั้งแต่ต้น เพราะคนเหล่านั้นอาจตันได้เมื่อเวลาผ่านไป แต่เขาจะเลือกจ้างคนที่สามารถพัฒนาศักยภาพ พร้อมเรียนรู้และฝึกฝนจนกลายเป็นคนที่เก่งยิ่งขึ้นได้”
5. มีผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพในสายงานที่จะสมัครมาช่วยเป็นบุคคลอ้างอิง
การที่คุณมีผู้หลักผู้ใหญ่ในสายงานที่คุณจะสมัครเป็นที่รู้จัก จะช่วยเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ ที่คุณอาจไม่คิดว่าจะมีได้ การอ้างถึงหรือคำแนะนำในแง่บวกจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือในสายงานที่คุณต้องการทำ จะเป็นใบเบิกทางชั้นดีที่ทำให้คุณได้รับความน่าเชื่อถือและความสนใจจากผู้ประกอบการ วิธีนี้เป็นวิธีการที่ง่ายแต่ได้ผลที่จะทำให้คุณเอาชนะอุปสรรคก้าวแรกในการสมัครงานที่คุณสมบัติไม่ถึง
การมีคุณสมบัติไม่ถึงไม่จำเป็นต้องเสียเปรียบเสมอไปในโลกของการหางาน สิ่งสำคัญอยู่ที่มุมมองและการขายศักยภาพของคุณให้ถูกทางโดยโฟกัสไปที่ข้อดีของคุณมากกว่าข้อเสีย ถึงเวลาแล้วที่คุณจะเริ่มอะไรใหม่ ๆ ก้าวออกมาจากคอมฟอร์ทโซนแล้วออกไปสู้ แล้วคุณจะอึ้งว่าคุณทำอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง iOS และ Android
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ