การทำงานให้ได้ดี ไม่ใช่แค่ดูจากเปลือกนอก โดยเฉพาะหัวหน้าจะต้องเข้าถึงจิตใจของลูกน้อง นักจิตวิทยาบอกว่า คนไม่ใช่ท่อนไม้ ที่ให้ทำอะไรก็ได้ แต่จะทำได้ดีถ้ามองเข้าไปในจิตใจ จิตใจมีส่วนทำให้งานดี หรือไม่ดีเท่าที่ควร การทำงานให้ประสบความสำเร็จ นอกจากจะต้องมีทักษะในงานที่ทำแล้ว ยังต้องมีหัวหน้าที่ดี มีมนุษยสัมพันธ์ และเข้าใจจิตใจผู้คนได้ อย่างเช่น เอลเลน เธอเป็นหัวหน้าโครงการที่แม้จะเพิ่งผ่าตัดมาใหม่ ๆ ก็ทำงานแบบถวายชีวิตโดยเป็นทั้งผู้ประสานงาน ผู้ร่วมงานและผู้ติดต่อลูกค้าภายใน รวมทั้งติดต่อกับนายเหนือขึ้นไป ระยะเวลางานแค่ 5 วัน แต่เอลเลนก็ยอมร่วมทุกข์ร่วมสุขกับลูกน้อง ตั้งแต่เริ่มโครงการจนสิ้นสุด เอลเลนคุมทีมงานทำทั้งกลางวันและกลางคืน ลูกน้องเต็มใจและมีความสุขกับการทำงาน การทำงานของเอเลนจึงประสบความสำเร็จสูง เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าพฤติกรรมและการมีส่วนร่วมของหัวหน้าทำให้งานมีประสิทธิภาพ ในขณะที่หัวหน้าที่ชอบแสดงท่าทีรังเกียจลูกน้อง ดูถูกดูหมิ่นลูกน้อง ผลก็คือลูกน้องหมดกำลังใจในการทำงาน จนสร้างความแตกแยกและยากที่จะทำงานร่วมกัน
จากการศึกษาโดยให้พนักงานเขียนบันทึกการทำงานแต่ละวันตามความรู้สึก ไม่ว่าจะทำงานในกลุ่ม หรือนอกกลุ่ม หรือความรู้สึกต่อเพื่อนร่วมงานแต่ละคน ผู้วิจัยเชื่อว่า อารมณ์และจิตใจมีส่วน ทำให้งานดีหรือด้อย ซึ่งผลวิจัยพบว่า หากพนักงานอารมณ์ดีก็มีความคิดริเริ่มมาก อารมณ์ไม่ดี ความคิดริเริ่มจะน้อย แถมวันไหนอารมณ์ดีจะทำให้วันรุ่งขึ้นมีความคิดริเริ่มด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การรับรู้เรื่องเนื้องาน มีผลต่อความคิดริเริ่ม โดยเฉพาะถ้าหัวหน้าร่วมมือ ใจกว้าง มีวิสัยทัศน์ นวัตกรรม และรู้จักให้รางวัลหรือผลตอบแทนแก่ลูกน้องที่มีความสามารถ
จากการวิจัยพบอีกว่า หากหัวหน้าชื่นชมลูกน้อง หรือร่วมทำงานแบบเคียงบ่าเคียงไหล่ หรือให้กำลังใจกันแม้ว่าจะทำผิดพลาดไปบ้าง งานจะดูราบรื่นไม่น้อย ยิ่งไปกว่านั้น งานจะไปได้ดี ถ้าหัวหน้า ส่งเสริมให้ลูกน้องทำงานก้าวหน้ามากขึ้น และปฏิบัติต่อพวกเขาแบบมีศักดิ์ศรีสมกับความเป็นคนมีค่า โดยเฉพาะการทำโครงการให้ประสบความสำเร็จ หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ โดยไม่ต้องไปถามหัวหน้าเกินความจำเป็น
หัวหน้าที่ดีจึงต้อง
1. ให้เกียรติลูกน้อง | 9. อย่าหวงเกินเป็นจริง |
2. ให้ความดีความชอบอย่างเป็นธรรม | 10. ส่งเสริมให้ลูกน้องมีวิสัยทัศน์ มีความคิดริเริ่ม |
3. รู้จักแบ่งงาน | 11. เป็นผู้นำในทางสร้างสรรค์ |
4. เข้าใจและรู้จักรักษาจิตใจลูกน้อง | 12. ต้องเป็นพี่เลี้ยง |
5. สร้างบรรยากาศเป็นสุข | 13. เป็นผู้ติดตาม |
6. ร่วมทุกข์ร่วมสุข | 14. เป็นผู้ประเมินผล |
7. ให้โอกาส แม้จะผิดพลาดไปบ้าง | 15. เป็นผู้ปฏิบัติแก้ไข |
8. ยอมรับว่าความสามารถของแต่ละคนต่างกัน |
ไม่ว่าใครก็ตาม จะมีตำแหน่งสูงหรือต่ำ หากอยากทำงานมีความสุข ไม่หวาดกลัว ไม่โดนดูถูกดูหมิ่น ไม่โดนกลั่นแกล้ง อยู่ที่องค์กรเข้าใจความรู้สึกนึกคิดเขาแค่ไหน ถ้าองค์กรอยากให้พนักงาน ทุ่มกายเทใจทำงานให้มากที่สุด ผู้บริหารต้องหันมามองว่าเราเข้าใจลูกน้องด้านความคิด และความรู้สึกในการทำงานของพวกเขาแบบใจถึงใจแค่ไหนนั่นเอง
ที่มา : For Quality Magazine